ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 6มิ.ย.ที่ระดับ 34.77 บาทต่อดอลลาร์

06 มิ.ย. 2566 | 00:37 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2566 | 02:24 น.

เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุแนวต้านโซน 34.90 บาทต่อดอลลาร์ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ราคาทองคำและค่าเงินหยวนที่จะมีผลกับทิศทางเงินบาทในช่วงนี้

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้  6มิ.ย.2566ที่ระดับ  34.77 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.89 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิดวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน)

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าในช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดไปมาก ทว่า เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา

 

 หลังดัชนี ISM PMI ภาคการบริการสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด นอกจากการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังช่วยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินโดยรวมเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นธีม AI และปัญหาเพดานหนี้ที่คลี่คลาย

 

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯ และจีนโดย ส่วนในฝั่งไทย รอติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนพฤษภาคม

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪   ฝั่งสหรัฐฯ – สัปดาห์นี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อาจมีไม่มากนัก และยังเป็นช่วง Black Out/Silent Period ของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะไม่ทราบมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพิ่มเติม โดยเฉพาะหลังจากที่ตลาดรับรู้รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ล่าสุด ที่ออกมาดีกว่าคาดไปมาก

ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ภาคการบริการของสหรัฐฯ อาจขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี ISM PMI ภาคการบริการที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52.5 จุด ในเดือนพฤษภาคม หนุนโดยตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว

 อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยที่กดดันการขยายตัวในภาคการบริการ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) เพื่อช่วยประกอบการประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ

 ▪  ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายน ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า ยอดค้าปลีกอาจขยายตัวราว +0.2% จากเดือนก่อนหน้า หนุนโดยภาวะการจ้างงานที่ยังคงดีอยู่

ทว่าปัญหาค่าครองชีพสูงจากภาวะเงินเฟ้อสูงก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการบริโภคโดยรวม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักดังกล่าว

  ▪  ฝั่งเอเชีย – ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิด หลังข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดต่างชี้ว่า เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้แย่กว่าคาด โดยเฉพาะดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งตลาดคาดว่า การชะลอตัวลงของภาคอุตสาหกรรมอาจสะท้อนผ่าน ยอดการนำเข้าเดือนพฤษภาคมที่อาจหดตัว -8%y/y

ส่วนยอดการส่งออกก็อาจหดตัว -2%y/y ตามแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่ล้วนชะลอตัวลง นอกจากนี้ โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงลง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ทางการจีนและธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในอนาคต ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดมองว่าธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA)

 

รวมถึงธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จะตัดสินใจ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.85% และ 6.50% ตามลำดับ หลังอัตราเงินเฟ้อของทั้งออสเตรเลียและอินเดีย ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ภาพรวมเศรษฐกิจก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง

 

▪  ฝั่งไทย – เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนพฤษภาคมอาจชะลอลง -0.05% จากเดือนก่อนหน้า (คิดเป็น +1.2%y/y เนื่องจากระดับฐานราคาที่สูงในปีก่อนหน้า) ตามการปรับตัวลงของราคาสินค้าพลังงาน ทว่าราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มอาจยังคงปรับตัวขึ้นตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของการบริโภคในประเทศ

 

ซึ่งจะสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.5 จุด ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ เราจะติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เพราะหากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจลดโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในเดือนสิงหาคม

 

 สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทแผ่วลงชัดเจนมากขึ้น โดยเงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุแนวต้านโซน 34.90 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ ทำให้เรามองว่าผู้เล่นในตลาดอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในจังหวะเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะช่วยจำกัดการอ่อนค่าของเงินบาท

 

ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน และควรจับตาทิศทางราคาทองคำและค่าเงินหยวนซึ่งมีผลกับเงินบาทในช่วงนี้

 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราคงมองว่า Upside เงินดอลลาร์อาจมีไม่มาก โดยเฉพาะในสัปดาห์ที่ขาดถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทำให้หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด ผู้เล่นในตลาดจะยิ่งมองว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน กดดันให้เงินดอลลาร์มีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง

 

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.40-34.95 บาท/ดอลลาร์

 

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.85 บาท/ดอลลาร์

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.77-34.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.00 น.) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในออฟชอร์วานนี้ที่ระดับ 34.89 บาทต่อดอลลาร์ฯ (แต่อ่อนค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดในประเทศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 34.54 บาทต่อดอลลาร์ฯ) 

ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่ากลับมาเล็กน้อย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุน หลังดัชนี ISM ภาคการบริการของสหรัฐฯ ซึ่งปรับตัวลงมากกว่าที่ตลาดคาด (ลดลงมาที่ระดับ 50.3 ในเดือนพ.ค. ตลาดคาดที่ 51.5) กระตุ้นแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อทำกำไร หลังจากที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา รับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่ง (เพิ่มขึ้นถึง 339,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. ตลาดคาดที่ 190,000 ตำแหน่ง)

อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของเงินบาทในระหว่างวันอาจยังคงผันผวน เนื่องจากตลาดกำลังอยู่ระหว่างการประเมินโอกาสความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. นี้   

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.70-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์การเมืองและอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย