NCBเสนอจัดโปรโมชั่นปูพรมทั่วประเทศเฉพาะปี66-67ผ่าน “มหกรรมแก้หนี้-คลีนิกแก้หนี้” ทางแก้ติดเงื่อนไขค้ำคอต้องพิสูจน์หลักฐานฉุดการปรับโครงสร้างหนี้อืด
แบงก์ยังคัดกรองลูกค้าเข้มข้น
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด(NCB) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง รายได้ยังไม่แน่นอนทำให้รายได้ของคนยังไม่กลับมาเท่าก่อนปี 2562 ขณะที่ยังมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและราคาพลังงานอาจสูงขึ้น
เหล่านี้เป็นปัจจัยให้สถาบันการเงินมีการตรวจข้อมูลประวัติทางการเงินบนฐานข้อมูลของเครดิตบูโรเฉลี่ย 120ครั้งต่อปี พร้อมกับการพิจารณาในหลายมิติมากขึ้นทั้งรายได้,อาชีพ,พื้นที่ โดยมีความกังวลในบางอาชีพ เช่น บุคลากรเพื่อการศึกษา
ทั้งนี้ใน ปี2566 พบว่าการขอสินเชื่อใหม่ 4-5ล้านครั้งต่อเดือน สะท้อนการขอสินเชื่อปีนี้น้อยลง ส่วนหนึ่งอาจมาจากสถาบันการเงินคัดกรองผู้กู้มากขึ้น เพราะใช้ระบบดิจิทัลเลนดิ้งด้วย
อีกทั้งยังพบว่าสถาบันการเงินมีความเข้มข้นในการตรวจประวัติเครดิตในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจSMEรายที่มีการขอวงเงินสินเชื่อค่อนข้างสูงส่วนหนึ่งเพื่อนำเงินไปฟื้นฟูกิจการโดยสถาบันการเงินจะใช้วิธีให้ผู้กู้ตรวจเครดิตและเครดิตสกอริ่งของตัวเองผ่านแอพพลิเคชั่นด้วย
สำหรับลูกหนี้SMEs(เฉพาะรายที่เป็นนิติบุคคล)ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ณ เดือนมีนาคม2566 พบว่า หนี้ค้างชำระเกิน 90วันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดนั้นมีจำนวน 20,152 บัญชีลดลง 3,172ล้านบัญชีจากสิ้นปี2565 วงเงิน 5.4หมื่นล้านบาทลดลง 8,000ล้านบาทจากสิ้นปีที่แล้ว และจำนวนรายลดลง 1,527รายเหลือ 11,357รายจากสิ้นปีที่แล้ว
-หนี้ปรับโครงสร้าง8แสนล้าน
นายสุรพลกล่าวว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนทั้งระบบประมาณ 15ล้านล้านบาทนั้นประมาณ 13.26ล้านล้านบาทเป็นการจัดเก็บข้อมูลในเครดิตบูโรหรือNCB สะท้อนตัวเลขที่เพิ่มขึ้น3.3%จากปีก่อนอยู่ที่ 12.77ล้านล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อบัตรเครดิต 5.37แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 5.1%จากช่วงเดียวกันปีก่อน ,
สินเชื่อส่วนบุคคล 2.52ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.9% ,สินเชื่อรถยนต์ 2.6ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 3.1% สินเชื่อบ้าน4.81ล้านล้านบาท วงเงินเบิกเกินบัญชี(OD) 3.38แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.1% สินเชื่ออื่น 1.53ล้านล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการเกษตร 9.02แสนล้านบาทลดลง 5.5%
อีกประมาณ 2.2ล้านล้านบาทอยู่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งใน 2.2ล้านล้านบาทนี้ พบว่า เป็นหนี้ข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา(ครู)ราว 8แสนล้านบาท ซึ่งเครดิตบูโรจะไม่มีข้อมูลกังกล่าว แต่กรณีข้าราชการครูยังมีการกู้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(SFIs) อีกราว 6แสนล้านบาทซึ่งทาง SFIs ได้รายงานเข้ามาอยู่ในเครดิตบูโรแล้ว
สำหรับมูลหนี้ 13.26ล้านล้านบาทในเครดิตบูโรแบ่งเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) 9.5แสนล้านบาทซึ่งปรับลดลงจากช่วงที่เคยสูงสุด 1.1ล้านล้านบาทเมื่อเดือนมิ.ย.ปี2565 และเป็นหนี้รอปรับโครงสร้างหนี้ราว 8แสนล้านบาท ซึ่งพบว่าหลังปรับโครงสร้างหนี้แล้วลูกหนี้อยู่รอดในสัดส่วน 60% ที่เหลืออีก 40%จะเป็นลักษณะสะดุดบ้างและกลับมาปรับโครงสร้างหนี้กันใหม่
-หนี้จัดชั้นSMลาม “สินเชื่อบ้านและรถยนต์
นอกจากนี้ในส่วนของลูกหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ(SM/Stage2) จำนวน 6แสนล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.85แสนล้านบาทเทียบจากไตรมาสสองปี2565 โดยลูกหนี้กลุ่ม SMจำนวน 6แสนล้านบาทนั้น ประกอบด้วย
1.สินเชื่อบ้าน 1.62แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ราว 70%หรือ 1.12แสนล้านบาทอยู่ในมือของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(SFIs) ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีรายได้ไม่มาก เฉลี่ยจากราคาบ้าน 1-3ล้านบาทโดยเฉพาะ สินเชื่อบ้านที่เป็นSMเพิ่มขึ้น 66%จากไตรมาสสองปีที่แล้วอยู่ที่ 9.76หมื่นล้านบาท
2.สินเชื่อรถยนต์ จำนวน1.91แสนล้านบาทจากไตรมาสสองปีที่แล้วอยู่ที่ 1.7แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3% ถ้ารวมหนี้เสียไปแล้ว(NPLs) กับที่กำลังจะเสียของสินเชื่อรถยนต์ พบว่า ตกประมาณ 1ล้านบัญชี โดยมียอดค้างชำระแล้ว 50%สะท้อนว่ารถยนต์ถูกยึดแน่ กรณีมีติ่งหนี้อาจจะกลับมาผ่อนชำระกับเจ้าหนี้กันใหม่ ที่เหลืออีกครึ่งประมาณ 5แสนบัญชีที่ค้างชำระ ถ้าผ่อนไม่ไหวในที่สุดต้องเข้าสู่กระบวนการทางศาลเพื่อยึดรถหลักประกัน
อย่างไรก็ตาม พบว่า สินเชื่อรถยนต์ จำนวน 1ล้านสัญญา(บัญชี) อยู่ใน 2เจเนอเรชั่นคือ Gen :Y กับ Gen: X
เหล่านี้ สะท้อนว่า ธปท.กำลังช่วยลูกหนี้NPLs ทำ TDR 9วิธีตามมาตรการฟ้าส้ม แต่ระหว่างทางที่ช่วยลูกหนี้NPsยังไม่จบ และลูกหนี้SM ที่รอปะทุอีก 6แสนล้านบาทในจำนวนนี้กำลังลามหนี้สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์
3.สินเชื่อส่วนบุคคลอีก 1.55แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 129.8%จาก 6.76หมื่นล้านบาท
4.สินเชื่อเพื่อเกษตรเพิ่มขึ้น 480.8%เป็น 6,243ล้านบาทจาก 1,074ล้านบาท เป็นต้น
-ห่วงดอกเบี้ยขาขึ้นดันคุณภาพสินเชื่อบ้าน
ขณะเดียวกันช่วง 3ปีที่ผ่านมา (ปี63 ปี64 ปี65) สถาบันการเงินทะยอยขายหนี้NPLs กว่า 2แสนล้านบาทซึ่งในจำนวนนั้นมีลูกหนี้สินเชื่อบ้านรวมอยู่ด้วย และไตรมาสหนึ่งปีนี้ก็มีการขายหนี้อีก4หมื่นล้านบาท ฉะนั้นความเสี่ยงยังขึ้นอยู่กับบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์(AMC/JV AMC) หากเร่งรัดหรือบริหารจัดการหนี้เร็วจะทำให้ตัวเลขหนี้ในส่วนหนี้เพิ่มขึ้นด้วย
“ นอกจากนี้ ดอกเบี้ยขาขึ้นก็จะเป็นอีกปัญหากดดันคุณภาพสินเชื่อ ซึ่งเราไม่ห่วงสินเชื่อพีโลนเพราะเห็นภาพกันอยู่แล้ว แต่สินเชื่อบ้าน ลักษณะการผ่อนชำระ เป็นขั้นบันได คือ สามปีแรกจ่ายถูก แต่จะผ่อนชำระเพิ่มในปีที่ 4 ถ้าช่วงนี้ขึ้นปีที่ 4 จะเป็นอย่างไร
ส่วนตัวมองว่าเป็นอาการเริ่มเน่าแต่ยังไม่เป็นหนี้ตกหน้าผา ฉะนั้นการแก้ปัญหาต้องเร็วและแรง แต่ทั้งหนี้เอ็นพีแอล และSMนั้นต้องการแก้ไขคนละวิธี คาดหวังว่าธปท.จะออกมาตรการในเดือนมิ.ย. นี้ซึ่งไม่ทราบว่ามาตรการที่จะออกมาเป็นอย่างไร”
-เสนอทางออกแก้หนี้แบบปูพรม
นายสุรพลกล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น จะเห็นว่า การที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน หนึ่งในมิติในเชิงพัฒนาการแก้ปัญหาหนี้ในอนาคตคือ ต้องจัดการกับปัญหาข้อมูลให้มีการรวมศูนย์ข้อมูลหนี้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่กับNCBแต่อยู่ที่ไหนก็ได้เพื่อที่จะให้เห็นข้อมูลลูกหนี้ทั้งระบบหรือครบ 360องศา
พร้อมเสนอให้ทางการจัดโปรโมชั่นแก้ไขปัญหาหนี้แบบปูพรมทั่วประเทศเฉพาะปี66-67 ผ่าน “มหกรรมแก้หนี้-คลีนิกแก้หนี้” เนื่องจากที่ผ่านมาการปรับโครงสร้างหนี้ยังติดเงื่อนไขค้ำคอ เพราะกติกากำหนดให้ต้องเป็นลูกค้าที่มีศักยภาพ หากเป็นลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่ประจำต้องการปรับโครงสร้างหนี้หนี้ก่อน โดยต้องพิสูจน์หลักฐาน เช่น รายได้ เพื่อจะได้รับการอนุมัติวงเงิน
แต่ในกรณีลูกหนี้รวมถึงผู้ประกอบการSMEsที่ทำการค้าขาย หรือรับจ้างทำของ หลังโควิด-19 เขามีหลักฐานไม่เพียงพอ เท่ากับบีบให้ลูกหนี้หาหลักฐานปลอมแล้วมาปรับโครงสร้างหนี้หรือกรณีจะเติมเงินก็ต้องปรับโครงสร้างหนี้ก่อน
“ สำหรับคนมีรายได้ไม่ประจำ ควรยกให้เป็นเรื่องของแบงก์เจ้าหนี้พิจารณาเอง โดยให้โอกาสในปี 66-67ช่วยเต็มที่โดยให้เหมือนลงทะเบียนคนจนก็ได้ รวมเจ้าหนี้มาให้ครบ รวมสินเชื่อ 4ประเภทบ้าน รถ บัตรและพีโลน และผมยืนยันเรื่องการใช้หลักเกณฑ์พิสูจน์ที่ไม่เหมือนกันระหว่างลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่ประจำ หรือลูกหนี้มีหลักประกันเหลือ อย่าไปมองว่า เป็นการหลอกทำให้ ลูกหนี้ไม่ดีเป็นลูกหนี้ดีเพื่อจะหนีกันสำรอง ถ้ามองอย่างนี้ไม่จบ”
อย่างไรก็ตาม หากสถาบันการเงินได้มีการกันสำรองรายบัญชีลูกหนี้ครบถ้วนแล้ว ในส่วนของสำรองทั่วไปอีกก้อนควรจะปล่อยให้สถาบันการเงินเข้าหนี้บริหารจัดการเอง ซึ่งเป็นความจำเป็นที่ต้องยืดหยุ่นให้ทางเจ้าหนี้โดยไม่ใช่การผ่อนผันเกณฑ์แต่อย่างใด