นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน เดือนมิถุนายน 2566 และไตรมาสที่ 2โดยระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนมิ.ย.ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยภาคการท่องเที่ยวดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยว
ส่วนมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมทรงตัวสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม และเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง จากหมวดอาหารสด และเงินเฟ้อพื้นฐานก็ปรับลดลงจากผลของฐานที่สูง
ขณะที่ในไตรมาสที่2 เครื่องชี้สะท้อนการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยภาคบริการและภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ และมูลค่าส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการส่งออกสินค้าเกษตร แต่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้ลดลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานก็ปรับลดลงจากฐานสูงในปีก่อนและเงินเฟ้อในหมวดพลังงานปรับลดลงด้วย
“ส่วนแนวโน้มเดือนก.ค.และระยะต่อไป เศรษฐกิจไทยยังทยอยฟื้นตัวปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของภาคบริการ แต่ยังต้องติดตามเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังผันผวน ,การจัดตั้งและนโยบายของรัฐบาลใหม่ รวมถึงผลของค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงต่อกลุ่มเปราะบาง”นางสาวชญาวดีกล่าว
เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่า แรงขับเคลื่อนสำคัญในเดือนมิ.ย. คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.4ล้านคนเพิ่มขึ้นจากที่ประมาณ 2ล้านคนเมื่อเดือนก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากหลายสัญชาติโดยเฉพาะมาเลเซียและจีน ดัชนีการผลิตภาคบริการเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น จากเดือนก่อนที่ 1.0% หลักๆ เป็นผลดีจากการท่องเที่ยว รวมทั้งโรงแรม ภาคขนส่งที่ฟื้นตัวได้ดี ขณะที่ภาคการค้าและขนส่งสินค้า
ไตรมาสที่ 2 ภาคบริการยังขยายตัวได้ 4.9% ซึ่งมาจากกิจกรรมในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยไตรมาส2นักท่องเที่ยวอยู่ที่ 6.4ล้านคน และ มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 2.5% หลักๆ จากการส่งออกสินค้าเกษตร (ทุเรียนในภาคใต้ไปจีน)
แต่เกษตรแปรรูปปรับลดลง จากการส่งออกที่ลดลงจากการ ปรับลดลงจากการส่งออกน้ำมันปาล์ม เนื่องจากอินโดนีเซียมีมาตรการจำกัดการส่งออก โดยผ่อนมาตรการเดือนมิ.ย.จึงเป็นคู่แข่งกับไทยทำให้การส่งน้ำมันปาล์มลดลง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ดีขึ้นตามการส่งออกฮาร์ดดิสไดร์ฟไปอาเซียนกับสหรัฐตามรอบการส่งออก สอดคล้องกับการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากการผลิตฮาร์ดดิสไดร์ฟปรับดีขึ้น แต่หากรวมกับอิเล็กทรอนิกส์อาจจะเพิ่มขึ้นไม่สูงมาก ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปสหรัฐและยุโรปที่ลดลงตามอุปสงค์
มูลค่าการส่งออกทั้งไตรมาส2 เพิ่มขึ้น 0.7%จากไตรมาสก่อน ซึ่งมาจากการส่งออกสินค้าเกษตร (ทุเรียน) ,การส่งออกยานยนต์ไปออสเตรเลียและสหรัฐเป็นสำคัญ
สำหรับภาคการผลิตอุตสาหกรรม เครื่องชี้ในเดือนมิ.ย. “ทรงตัว” โดยลดลง -0.2% ซึ่งมีทั้งลดและเพิ่มขึ้น โดยส่วนที่ปรับลดคือ หมวดอาหาร และเครื่องดื่ม หมวดยางและพลาสติกจากจีน และ หมวดไอซีและคอนดักต์เตอร์หดตัวสอดคล้องสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
สำหรับหมวดที่เป็นบวก ได้แก่ ปิโตรเลี่ยม มาจากโรงกลั่นที่กลับมาเปิดได้(ปิดในเดือนพ.ค.) และการผลิตเหล็กจากฐานที่ต่ำ และเริ่มเห็นการนำเข้าน้อยลงจากต่างประเทศ
ไตรมาสสองภาคการผลิตดัชนีผลการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง 2.0%จากไตรมาสก่อนหน้าทั้งหมวดยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ
การบริโภคภาคเอกชน เดือนมิ.ย.ชะลอลงเล็กน้อยอยู่ที่ 0.3% จากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายเกือบทุกหมวด เช่น หมวดสินค้าคงทน ปรับลดลงตามยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์เชิงพาณิชย์ ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ เนื่องจากมีการเร่งส่งมอบไปก่อนหน้าและสถาบันการเงินอาจจะเข้มงวดขึ้นบ้าง เพราะมีการปล่อยสินเชื่อไปก่อนหน้า
หมวดสินค้ากึ่งคงทนนั้น ปรับลดลงเดือนนี้ตามการนำเข้าสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและยอดขายปลีก ส่วนหมวดสินค้าไม่คงทนที่ปรับลดลงมาจากยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่รวมแอลกอฮอล์และยาสูบ(ซึ่งเร่งไปก่อนหน้าช่วงที่มีการเบิกจ่ายวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) แต่ยอดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และการใช้ไฟฟ้ายังขยายตัว
ส่วนหมวดบริการ “ทรงตัว”ตามการใช้จ่ายหมวดโรงแรม ภัตตาคารและขนส่งผู้โดยสาร ถ้ามองเป็นภาพไตรมาส2 การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.3%จากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งมาจากหมวด สินค้าไม่คงทนตามการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ตามสภาพอากาศที่ร้อยกว่าปกติ และหมวดบริการที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยว
ปัจจัยสนับสนุนการบริโภค คือ ดัชนีความเชื่อมั่น โดยรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน (เป็นการฟื้นตัวจากกิจกรรมการท่องเที่ยว)
อย่างไรก็ตามจากการสอบถามผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อค่าครองชีพสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ปรับลดลง 1.8% จากเดือนก่อนหน้า มาจากเครื่องจักรและอุปกรณ์ซึ่งปรับลดลงทุกองค์ประกอบ เช่น ตามการนำเข้าสินค้าทุน (คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง) การนำเข้าเครื่องบิน จากที่เร่งไปเมื่อเดือนพ.ค. และยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศก็ปรับลดลงตามยอดจำหน่ายมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ยอดจดทะเบียนรถกะบะที่ปรับลด
ส่วนการลงทุนด้านก่อสร้าง ลดลงตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขณะพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างยังเติบโตตามพื้นที่อุตสาหกรรม และโรงงานโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ซึ่งทั้งไตรมาส2 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 1.4%จากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหรรมใหม่ๆที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ
ทั้งนี้ การลงทุนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวสะท้อนความเชื่อมั่นจากภาคธุรกิจทั้งภาคการผลิตที่อยู่เหนือระดับ 50 และไม่ใช่ภาคการผลิต(เฉพาะมิ.ย.ปรับลดลงจากกลุ่มก่อสร้าง) ส่วนภาคการผลิตเดือนมิ.ย.ปรับดีขึ้นจากการผลิตเหล็กและยานยนต์
ด้านรายจ่ายของภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัว 5.9%จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำหดตัว 6.6%ตามการเบิกจ่ายงบกลาง(จากฐานสูงปีก่อนเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19) และการเบิกจ่ายค่าตอบแทนแรงงานภาครัฐหน่วยงานการศึกษาที่เร่งไปก่อนหน้า สำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนรัฐบาลกลางก็หดตัว3.6% ตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานคมนาคมและชลประทานที่เร่งเบิกจ่ายไปก่อนหน้าแล้วการลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว 34.7% ตามการเบิกจ่ายโครงการลงทุนด้านพลังงานเป็นสำคัญ
ในส่วนของเสถียรภาพของเศรษฐกิจ พบว่า ตลาดแรงงานทั้งเดือนมิ.ย.และไตรมาสที่ 2 ยังฟื้นตัวต่อเนื่องโดยจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนผู้รับสิทธิว่างงานรายใหม่ภาพรวมปรับลดลง แต่ยังต้องติดตามการจ้างงานในภาคการผลิตอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและปรากฎการณ์ของแอลนิโญที่อาจส่งผลต่อภาคเกษตร และส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาคนี้
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.23% ปรับลดลงจากเดือนก่อนอยู่ที่ 0.53% โดยมาจาก 2ส่วนคือ อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสด ที่ปรับลดลงจากราคาเนื้อหมู (มีปริมาณออกมามากขึ้น) และราคาผักสด แต่ราคาผักสดยังมีความเสี่ยงจากภัยแล้ง
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง มาอยู่ที่ 1.32% จากเดือนพ.ค.อยู่ที่ 1.55% จากผลของฐานสูงก่อนหน้าของราคาอาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหาร ส่วนอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงาน ใกล้เคียงกับเดือนพ.ค.แม้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นหลังหมดมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐในพ.ค. แต่ราคาน้ำมันขายปลีกปรับลดลงจากฐานที่สูงในปีก่อน และราคาในประเทศปรับลดตามราคาน้ำมันดิบ
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคเทียบกับเดือนก่อนจะเพิ่มขึ้น 0.7%ขณะดัชนีราคาผู้บริโภคที่เป็นพื้นฐานยัง “ทรงตัว” สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส2 อยู่ที่ 1.14% ปรับลดลงจาก 3.88%เมื่อเดือนพ.ค. จากเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงมาอยู่ที่ 1.51% จากผลของฐานที่สูงและราคาเครื่องประกอบอาหารที่ลดลงจากไตรมาสก่อน
ด้านเสถียรภาพต่างประเทศ พบว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนมิ.ย.เกินดุลที่ 1.4พันล้านดอลลาร์ เทียบจากขาดดุล 2.8พันล้านดอลลาร์เดือนก่อน ซึ่งมาจาก 2องค์ประกอบ คือ 1.ดุลการค้าเดือนมิ.ย.ปรับดีขึ้น และการนำเข้าปรับลด และ 2.ดุลรายได้ บริการและเงินโอนขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า
โดยดุลรายได้ บริการและเงินโอน จากการที่ค่าใช้จ่ายด้านทรัพย์สินทางปัญญาลดลงเพราะเร่งไปในช่วงก่อนหน้าและรายจ่ายค่าระวางเรือที่ปรับลดลง และการส่งกลับกำไรของธุรกิจต่างประเทศที่ทยอยลดลงในช่วงท้ายของการจ่ายปันผล
ขณะที่ไตรมาสที่ 2 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลที่ 1.9พันล้านดอลลาร์จากไตรมาสแรกเกินดุลที่ 3.5พันล้านดอลลาร์ จากการส่งกลับกำไรและรายรับด้านการท่องเที่ยวที่ปรับลดลงตามฤดูกาล ประกอบกับดุลการค้าเกินดุลลดลงจากการนำเข้าน้ำมันและทองคำเพิ่มขึ้น
สำหรับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเดือนมิ.ย.เฉลี่ย “อ่อนค่าลง”จากการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของสหรัฐ หลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาแข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้ ทำให้เงินดอลลาร์ “แข็งค่า” ขณะเดียวกันแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดและความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย
ขณะที่เดือนก.ค.ข้อมูลถึงวันที่ 25 ก.ค.เงินบาทเฉลี่ยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามการปรับลดการคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐออกมามีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่ดัชนีค่าเงินทรงตัวใกล้เคียงกับมิ.ย.
นางสาวชญาวดีกล่าวเพิ่มเติมว่า มองไปข้างหน้าเครื่องชี้ระยะต่อไป การท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ส่วนการส่งออกน่าจะ “ทรงตัว” จากอุปสงค์ต่างประเทศแนวโน้มน่าจะทรงตัวตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่น่าจะทรงตัวไปอีกระยะหนึ่ง แต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นปลายปีตามวัฎจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าจะกลับมา
ขณะที่ผลสำรวจผู้ประกอบการดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนก.ค. ปรับลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ เช่น ด้านคำสั่งซื้อ การผลิต ผลประกอบการ โดยหากแยกเป็นกลุ่มธุรกิจที่ทำการผลิตภาคอุตสาหกรรม กับ ที่ไม่ใช่กลุ่มการผลิตภาคอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มการผลิตจะลดลง ทั้งยานยนต์ เหล็ก เคมี ปิโตรเลียม ยางและพลาสติก ในขณะที่ความเชื่อมั่นที่ไม่ใช่ในกลุ่มการผลิตภาคอุตฯปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน เกือบทุกหมวดธุรกิจ ยกเว้นก่อสร้าง