เปิดรายงานบอรด์กนง.ชี้จัดตั้งรัฐบาลช้ากระทบ “บริโภค ลงทุน ท่องเที่ยว”

16 ส.ค. 2566 | 04:53 น.
อัพเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2566 | 05:13 น.

เปิดรายงานประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินชี้ 4ความเสี่ยงในระยะข้างหน้า “ เศรษฐกิจโลก การส่งออกสินค้าฟื้นตัวช้ากว่าคาด สถาน จัดตั้งรัฐบาลช้าหวั่นกระทบ “การบริโภคการลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยว” และปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจรุนแรงกว่าคาด

รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 4/2566วันที่ 27 กรกฎาคม และ 2 สิงหาคม 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยแพร่ ณ วันที่16 สิงหาคม 2566

ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงิน

เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องจากการบริโภคในหมวดบริการเป็นสำคัญ รวมทั้งปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่สะท้อนจากการจ้างงานและการบริโภคภาคเอกชนซึ่งปรับดีขึ้น เศรษฐกิจจีนชะลอกว่าคาดในไตรมาสที่ 2 ขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศเอเชียมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าคาดจากการส่งออกไปจีน เนื่องจากสินค้าคงคลังในภาคอุตสาหกรรมของจีนยังอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้คาดว่าการส่งออกของกลุ่มประเทศเอเชียจะปรับดีขึ้นและฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ตามการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก

ตลาดการเงินโลกสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับดีขึ้น (risk-on sentiment) จากทิศทางเงินเฟ้อ โลกที่เริ่มชะลอตัวตามราคาพลังงานที่ปรับลดลง และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดน้อยลงในระยะต่อไป ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับสูงขึ้นและเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าบางประเทศในภูมิภาคภาวะการเงินไทยโดยรวมผ่อนคลายลดลง แต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโน้มสูงขึ้นตามการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ภาคธุรกิจโดยรวมยังระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 การระดมทุนของธุรกิจขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 2.8 จากตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 12.8

ขณะที่สินเชื่อธุรกิจหดตัวร้อยละ 1.1จากปีก่อน แต่ส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติหลังจากที่ได้ขยายตัวต่อเนื่องเพราะผลของมาตรการทางการเงินในช่วงวิกฤต COVID-19 ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนโดยอ่อนค่าในช่วงที่ข้อมูลจริงเศรษฐกิจจีนออกมาขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ ก่อนกลับมาแข็งค่าสอดคล้องกับภูมิภาคจากทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีความเข้มงวดน้อยลง

อย่างไรก็ดี แนวโน้มตลาดการเงินในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอน โดยขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยในระยะต่อไป

ภาวะเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก แม้ภาคการส่งออกขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้แต่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นในระยะต่อไป โดยปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ได้แก่

(1) ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับประมาณการเดิมที่ 29 และ 35.5 ล้านคนในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้แต่ได้รับการชดเชยจากจำนวนนักท่องเที่ยวประเทศอื่นที่ฟื้นตัวสูงกว่าคาด และ

(2) การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีจากผู้บริโภคในกลุ่มรายได้ปานกลางและสูงเป็นหลัก นอกจากนี้การบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการจ้างงานและรายได้ที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยเฉพาะลูกจ้างในภาคบริการและอาชีพอิสระ สอดคล้องกับข้อมูลรายได้ที่แท้จริงของลูกจ้าง

นอกภาคเกษตรในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าในปี 2566 คาดว่าจะหดตัวเล็กน้อย ส่วนหนึ่งตามเศรษฐกิจจีน วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้าและสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยคาดว่าการส่งออกจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในครึ่งหลังของปี

โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศที่ได้อานิสงส์จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในสหรัฐฯ และยุโรป สินค้าเกษตรแปรรูปตามอุปสงค์ของอาเซียน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อุปสงค์โลกจะฟื้นตัวในปลายปี โดยตลาดอาเซียนจะฟื้นเร็วกว่าประเทศอื่นจากอุปสงค์ชิปรถยนต์ด้านการบริโภคและการลงทุนภาครัฐโดยรวมในปี 2566 คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตามกระบวนการงบประมาณที่คาดว่าจะล่าช้า 2 ไตรมาสโดยจะกลับมาขยายตัวในปี 2567

 สำหรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ได้แก่ เศรษฐกิจโลกและการส่งออกสินค้าที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด สถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจรุนแรงกว่าคาด

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงในระยะสั้น แต่ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจาก

(1) ผลของฐานที่สูงในปีก่อนและมาตรการลดค่าครองชีพซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว และ

(2) แนวโน้มค่าไฟฟ้าที่ปรับลดลงตามต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลง

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จะปรับสูงขึ้นหลังปัจจัยชั่วคราวทยอยหมดลง ในขณะเดียวกัน ราคาในหมวดอาหารสดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญโดยประมาณการดัชนี Oceanic Niño Index (ONI) ในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 1.1 ไปอยู่ที่ 1.9สะท้อนว่าเอลนีโญจะอยู่ในระดับรุนแรง แต่ยังน้อยกว่าภัยแล้งช่วงปี 2557 ซึ่งมี ONI สูงสุดถึง 2.6

 ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงแต่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงจากหมวดอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหาร (food in core) และบริการที่ไม่รวมค่าเช่าบ้าน รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่ลดลง อย่างไรก็ดี เครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อของไทยโดยรวมยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต

ขณะที่เงินเฟ้อหมวดอาหารของโลกซึ่งยังอยู่ในระดับสูง มีอิทธิพลต่อความผันผวนของเงินเฟ้อหมวดอาหารของไทยอย่างมีนัย มองไปข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูงที่สำคัญจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับเพิ่มขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด ซึ่งอาจเร่งการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง

ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ อภิปราย

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในกรณีฐานล่าสุดไม่แตกต่างจากที่ประเมินในการประชุมครั้งก่อนมากนัก โดยการชะลอลงของทั้งเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นเพียงระยะสั้น และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยมีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงในระยะสั้นจากจากราคาในหมวดพลังงาน มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ และผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า แต่จะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีและยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับเพิ่มขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด

• คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย รวมถึงความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนจะกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยและภูมิภาค ซึ่งจีนและอาเซียนมีสัดส่วนในตลาดส่งออกของไทยรวมกันใกล้เคียงร้อยละ 40

สำหรับความไม่แน่นอนทางการเมืองจะส่งผลในหลายมิติ ในด้านหนึ่ง กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าอาจกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนภาคการท่องเที่ยว ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่อาจส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสูงกว่าที่ประเมินไว้สำหรับปรากฏการณ์เอลนีโญอาจส่งผลรุนแรงกว่าที่คาดทำให้ราคาอาหารสดรวมถึงต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าผู้ประกอบการอาจกลับมาส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาเพิ่มขึ้นได้ ในบริบทที่ต้นทุนสูงขึ้นพร้อมกับเศรษฐกิจที่ขยายตัว

 คณะกรรมการฯ ประเมินว่าภาวะการเงินไทยผ่อนคลายลดลง แต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลต่อฐานะการเงินของครัวเรือนและธุรกิจกลุ่มเปราะบาง จึงสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนทั้งมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่าง ต่อเนื่อง

มาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่รวมถึงการดูแลหนี้เรื้อรัง (persistent debt) ทั้งนี้ มาตรการต่าง ๆ ข้างต้นเป็นมาตรการเฉพาะจุดที่มีประสิทธิผลมากกว่าและมีต้นทุนน้อยกว่าการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ส่งผลกว้างระดับมหภาค (blunt tool) และไม่เฉพาะเจาะจง

• คณะกรรมการฯ เห็นพ้องว่าการดำเนินนโยบายการเงินควรให้น้ำหนักเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการสะสมความเปราะบางต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในอนาคตได้อาทิ หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับสูง หรือพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)

ซึ่งนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าความเป็นจริง (underpricing of risks) ในการกู้ยืมหรือการลงทุน จนในที่สุดสร้างความเปราะบางต่อภาคธุรกิจและระบบการเงิน ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินควรให้น้ำหนักกับการเสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวโดยป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน

• คณะกรรมการฯ กังวลต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยสัดส่วนผลตอบแทนต่อรายได้แรงงาน (labor income share) ในบัญชีรายได้ประชาชาติของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จากประมาณร้อยละ 60 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 ส่วนหนึ่งเพราะการจ้างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและ

ภาคบริการที่มีผลิตภาพ (productivity) ต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคเอกชนและศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป รวมถึงมีนัยต่อการเนินนโยบายการเงินในอนาคต ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะต้องอาศัยนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เหมาะสม โดยเฉพาะการเพิ่มผลิตภาพให้กับแรงงาน

 

• คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของนโยบายการเงิน(policy space) ในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า เพื่อให้นโยบายการเงินและระบบการเงินมีศักยภาพเพียงพอในกรณีที่เกิดแรงกระแทกด้านลบต่อเศรษฐกิจ (shocks) ในอนาคต

โดยในช่วงที่ผ่านมานโยบายการเงินมีโอกาสน้อยที่จะสะสม policy space เนื่องจากมี shocks เกิดขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงบาง shocks มีขนาดใหญ่จึงจำเป็นต้องใช้ policy space ที่สะสมไว้ ดังนั้น ภายใต้บริบทที่เศรษฐกิจภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสที่นโยบายการเงินควรเสริมสร้าง policy space ให้เพียงพอเพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

• คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้เข้าใกล้ระดับที่เหมาะสมกับเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวเป็นลำดับ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเข้าสู่ระดับศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมายแต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง นโยบายการเงินยังควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืนควบคู่กับให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว

• การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจเงินเฟ้อและการประเมินความเสี่ยงในระยะข้างหน้า (outlook dependent) ภายใต้ความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ต้องคำนึงว่าข้อมูลในระยะสั้นอาจมีความผันผวนจากปัจจัยเฉพาะหรือปัจจัยชั่วคราว การดำเนินนโยบายการเงินจึงจำเป็นต้องมองไปข้างหน้าเพื่อมิให้เป็นการเพิ่มความผันผวนให้ต่อเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น

การดำเนินนโยบายการเงิน

คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 2.25 ต่อปีคณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเข้าสู่ระดับศักยภาพ จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ

ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวในระยะสั้นและคาดว่าจะปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้าสอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ด้านอัตราเงินเฟ้อปรับลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวในระดับที่สูงกว่าในอดีต ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐ และ

ปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจรุนแรงกว่าคาด ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลงแต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่คุณภาพสินเชื่ออาจด้อยลงจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบาง คณะกรรมการฯ สนับสนุนการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าในบริบทเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวโดยการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทาง

 

การเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปีในการประชุมครั้งนี้โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

 

กรรมการที่เข้าร่วมประชุม

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์(รองประธาน) นางรุ่ง มัลลิกะมาส   นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน นายรพี สุจริตกุล นายสมชัย จิตสุชน นายสุภัค ศิวะรักษ์