นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจและการเงินเดือนกรกฎาคม 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน
หากดูจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 2.49 ล้านคน จาก 2.24 ล้านคน หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 0.9% และนับจากต้นปี-ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวแล้ว 15.4 ล้านคน ซึ่งมาจากหลายสัญชาติ เช่น รัสเซีย มาเลเซีย เกาหลี และญี่ปุ่น แต่รายรับจากภาคการท่องเที่ยวไม่ได้เร่งตัวมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวระยะสั้น
ด้านการส่งออก ไม่รวมทองคำ ปรับหดตัว -1.8% จากเดือนก่อนหน้า หรือคิดเป็นการหดตัว -4.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งหมวดที่ปรับลดลงจากอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิกส์ไดร์ฟ และสินค้าเกษตร ขณะที่หมวดยานยนต์ส่งออกได้ดีขึ้นในหลายตลาด
ด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 1% ปรับดีขึ้นเกือบในทุกหมวดสินค้า นำโดยภาคการบริการท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคาร ขนส่งปรับดีขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ปรับดีขึ้นเช่นกันอยู่ที่ 1.4% จากเดือนก่อน มาจากหมวดการก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น มีการสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และเครื่องจักรอุปกรณ์ดีขึ้น
ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวอยู่ที่ 3.6% ตามรายจ่ายการลงทุนที่เติบโต 21.7% มาจากการเบิกจ่ายกรมทางหลวงชนบท และรัฐวิสาหกิจมีการลงทุนอยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการหดตัว -3.6% เทียบปีก่อน เป็นผลมาจากผลของฐานที่สูง แต่ขยายตัวเป็นบวกหากหักผลของฐาน ซึ่งมาจากเบิกจ่ายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
ตลาดแรงงานฟื้นตัวสอดคล้องกับการบริโภค โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น และกระจายตัวดีขึ้น และผู้ขอรับสิทธิว่างงานโดยรวมทยอยปรับลดลง แต่ผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จึงต้องติดตามในระยะต่อไป
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกรกฎาคม 2566 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนมิถุนายน 0.23% มาอยู่ที่ 0.38% มาจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการลดกำลังการผลิตและสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กลับมาอีกครั้ง ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ 1.32% มาอยู่ 0.86% แต่ภาพรวมเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ
ส่วนเงินบาทในเดือนก.ค. ปรับแข็งค่าขึ้นจาก 34.92 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย และในเดือนส.ค.เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35.02 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้มาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับดีขึ้น 2.ตัวเลขจีนออกมาแย่กว่าคาด และ 3.เศรษฐกิจไทยตัวเลขออกมาต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ดี ดัชนีเทียบคู่ค้าคู่แข่งยังคงใกล้เคียงและสอดคล้องกับภูมิภาค
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)วันที่ 27ก.ย. มีโอกาสสูงที่จะปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปี 2566 ( จากคาดการณ์จีดีพีอยู่ที่ 3.6% และปี 2567 อยู่ที่ 3.8%) ซึ่งมาจากภาคการต่างประเทศ เป็นสำคัญ โดยภาคการส่งออกชะลอตัวตัวจากเศรษฐกิจคู่ค้าและกำลังซื้อที่ยังไม่กลับมา โดยเฉพาะประเทศจีน ทั้งนี้ภาคส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ยังคงไม่เห็นการฟื้นตัว เพราะมีผลของฐานของปีก่อน แต่ไตรมาสที่ 4 จะเริ่มเห็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์น่าจะฟื้นตัว
นอกจากนี้ แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะยังมีทิศทางฟื้นตัว แต่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวค่อยข้างน้อยกว่าประมาณการ เพราะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวระยะสั้น ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวน้อยกว่าคาด แต่เศรษฐกิจภายในประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศสอดคล้องกับการบริโภคที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ต่อข้อถามถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000บาทนั้น นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ระบุว่า หากดูเฉพาะนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ เบื้องต้น พบว่า จะมีเม็ดเงินราว 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ของจีดีพี
ทั้งนี้ ธปท.ยังไม่ได้ประมาณการผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลต่ออัตราเงินเฟ้อ เพราะปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดในส่วนของวิธีการแจกเงินดิจิทัล จึงต้องรอรายละเอียดที่ชัดเจนก่อน ทั้งนี้ ผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมนั้นอาจต้องดูรอบการหมุนของเงิน หากหมุน 1รอบเศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้ 3%ของจีดีพี แต่นโยบายแจกเงินดิจิทัล เป็นนโยบายเงินโอนการหมุนของเงินจะน้อยรอบกว่า