สำหรับในช่วงปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าที่ปรับขึ้น และการใช้จ่าย ซ้ำยังส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ และตามมาด้วยความผันผวนในการลงทุน
ทำให้ช่วงที่ผ่านมานักลงทุนคงต้องตั้งคำถามว่า "เงินเฟ้อ" ที่ปรับขึ้นมาจากสาเหตุอะไร และแนวโน้มจะเป็นอย่างไร
"เงินเฟ้อสูง" เป็นผลมาจากการกลับมาบริโภคสินค้าและบริการทั่วโลกอย่างรวดเร็วหรืออุปสงค์ล้นตลาด ภายหลังจากการอัดอั้นมาจากช่วงวิกฤติ โควิด-19 ขณะที่ภาคการผลิต การขนส่ง และตลาดแรงงานปรับตัวไม่ทัน
และถึงแม้ว่าเงินเฟ้อโลกเริ่มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยตลาดแรงงานที่ยังคงตึงตัว การบริโภคยังแข็งแรงตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัว แต่ประเมินว่าเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับสูงอยู่ไปอีกสักระยะ
เมื่อประเมินว่าเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป คำถามตามมา คือ "ควรลงทุนอะไรดี" ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และทองคำ
หุ้น
หากเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ควรลงทุนหุ้นกลุ่มเติบโต (Growth Stock) เช่น กลุ่มเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือสินค้าฟุ่มเฟือย เพราะได้รับผลดีจากภาวะต้นทุนทางการเงินต่ำ สนับสนุนราคาพื้นฐานของบริษัทที่เน้นการเติบโตได้ดี
ตรงกันข้ามหากเงินเฟ้อสูง ควรลงทุนหุ้นปลอดภัย เช่น กลุ่มสินค้าจำเป็น โรงพยาบาลโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค เพราะเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
ตราสารหนี้
การลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ระยะสั้น ที่ผลตอบแทนหน้าตั๋วไม่สูง อาจทำให้ผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Yield) หลังหักเงินเฟ้อน้อยลง หรือติดลบได้
รวมถึงหลังจาก เงินเฟ้อชะลอลง หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับลดลง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะมีอัตราดอกเบี้ยแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ โดยดอกเบี้ยจ่ายประกอบด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง
ซึ่งถูกกำหนดไว้คงที่ และดอกเบี้ยจ่ายซึ่งขึ้นอยู่กับเงินเฟ้อในช่วงนั้น รวมถึงเงินต้นยังได้รับการปกป้องจากเงินเฟ้อให้มีอำนาจซื้อเท่าเดิมด้วย โดยจะปรับเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
ส่วนดอกเบี้ยจ่ายจะปรับเพิ่มหรือลดลงตามเงินเฟ้อ และจ่ายเป็นร้อยละของเงินต้นที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยจ่ายก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ทองคำ
เงินเฟ้อถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบกับราคาทองคำโดยตรง โดยเมื่อเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น
เช่นเดียวกันเมื่อเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับลดลงและอยู่ในระดับต่ำ ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับลดลงตามไปด้วย
สินค้าโภคภัณฑ์
ในที่นี้มองเป็นกลุ่มสินทรัพย์ ไม่ใช่เฉพาะทองคำ หรือน้ำมันเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้นเหตุส่วนหนึ่งของเงินเฟ้อ
เพราะฉะนั้น ข้อมูลในอดีตจะค่อนข้างสอดคล้องกันว่า เมื่อเงินเฟ้อมา ราคาสินทรัพย์กลุ่มนี้ก็จะขึ้นตามไปด้วยในช่วงเวลาเดียวกัน
หากนักลงทุนต้องการกระจายความเสี่ยงอาจลองพิจารณาเป็นการผสมระหว่าง ทองคำ 50% ที่โดยกลไกความจำกัดของอุปทานช่วยป้องกันผลของเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ลงทุนทั้งจำนวนแบบ 100% ในสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะจะผันผวนมาก อาจลงทุนเพียง 5% ของพอร์ตลงทุนโดยรวม
สรุปได้ว่า ในช่วงเงินเฟ้อสูงและมีแนวโน้มทรงตัวระหว่าง 3 – 4.5% ไปอีกประมาณ 1 ปี นักลงทุนควรลงทุนหุ้น และตราสารหนี้ ขณะเดียวกันก็ลงทุนทองคำ เพื่อลดความผันผวนจากเงินเฟ้อ
ซึ่งคาดว่าจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีและเอาชนะเงินเฟ้อได้ แต่ขออย่างเดียว คือ ต้องไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง แบบเซอร์ไพร์ส และสร้างความแปลกใจให้กับนักลงทุน
ข้อมูลที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)