“หุ้นกู้” เสี่ยงหลังเศรษฐกิจชะลอ ก้าวพลาดอาจสูญเงิน

13 ก.ย. 2566 | 00:00 น.

ตลาดหุ้นกู้ ในปัจจุบันดูจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หลังการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นในหลายบริษัท ทำเอานักลงทุนได้รับผลกระทบจนเกิดความเสียหาย ด้าน IAA แนะดูข้อมูลบทวิเคราะห์ควบคู่อันดับเรตติ้ง

ภาวะตลาด "หุ้นกู้" ในปัจจุบัน ดูเหมือนจะไม่แตกต่างกับเดินเข้าไปท่ามกลางสมรภูมิที่เต็มไปด้วยกับระเบิด ในฐานะผู้ลงทุนที่หากไม่มีความรู้มากพอ อาจเหยียบกับระเบิดสูญเสียเงินที่ลงทุน แทนที่จะได้ผลตอบแทนกลับมา

แม้ในอดีตจะมีกูรูหลายคนบอกว่า "การลงทุนในหุ้นกู้มีความปลอดภัยและสุ่มเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้นสามัญ" แต่หากดูในภาพรวมปัจจุบันความเสี่ยง และความผันผวนนั้นดูจะไม่แตกต่างกันมากนัก
ซึ่งอย่างที่ผ่านมาอาจเห็นการผิดนัดชำระหนี้ หุ้นกู้ ต่อเนื่อง ในหลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่มีเรตติ้งต่ำ หรือไม่มีเรตติ้ง ระดมทุนได้ยากต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น

โดยนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในไทย ที่ผ่านมาไม่ดีมาหลายปี ในช่วง 3-4 ปี ทำให้ยอดขายในหลายธุรกิจติดขัด

รวมทั้งผู้ที่ออกหุ้นกู้มีจำนวนมากในระยะหลัง
และจากปัญหาที่ธุรกิจแย่ลงในหลายธุรกิจ ที่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน จนเกิดปัญหาติดขัด ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยของไทยจะไม่อยู่ในระดับสูงมาก

แต่การออกหุ้นกู้ในหลายบริษัทมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากที่ระดับ 6-7% ขณะที่ประชาชนที่เป็นนักลงทุนก็ติดขัดในการลงทุนเช่นกัน ทั้งในหุ้น หุ้นกู้ และการลงทุนอื่นๆ

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA)

ซึ่งหากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น อย่างชัดเจน รอบในการหมุนของธุรกิจก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการพอที่จะสามารถชำระหนี้หุ้นกู้ และเอาตัวรอดได้ แต่ในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจในปี 2566 ก็ยังไม่ดีขึ้น มีเพียงความหวังในการรอนโยบายจากรัฐบาลใหม่ รวมทั้งการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าทำให้ทุกอย่างต้องไปรอในปี 2567

แต่หากในมุมกลับกันเศรษฐกิจยังแย่ต่อไปในระยะยาว ก็ต้องระมัดระวังในการลงทุนหุ้นกู้ เนื่องจากในปัจจุบันหุ้นกู้เริ่มมีการผิดนัดชำระ (Default) หลายรายให้เห็นบ้างแล้ว ยังไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ย และเงินต้น แต่เชื่อว่าคงไม่ใช่ทุกราย

ขณะที่ข้อสังเกตในบางบริษัทที่มีหุ้นกู้ 6 ชุด และเริ่มมีการ Default ในชุดแรกนั้น ก็อาจแสดงให้เห็นว่าเริ่มที่จะมีปัญหาติดขัด ซึ่งหุ้นกู้ในชุดที่เหลืออาจมีปัญหา Default ตามมาได้

โดยผู้ลงทุนจะต้องติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด รวมถึงตัวบริษัทเองจะต้องมีการชี้แจงว่า ติดขัดในปัญหาใดจึงไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ได้ รวมทั้งจะมีทางแก้อย่างไร ในฐานะนักลงทุนก็ต้องพิจารณาให้รอบครอบว่าจะตัดสินใจอย่างไร

ทั้งนี้ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่ออกหุ้นกู้ได้เบื้องต้น จากการดูบทวิเคราะห์ในหุ้นสามัญ ว่าการคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

รวมทั้งสังเกตได้ว่ามีบทวิเคราะห์เกี่ยวกับบริษัทนั้นมากกว่า 5 รายขึ้นไปหรือไม่ ซึ่งจะช่วยยืนยันในเบื้องต้นว่าบริษัทดังกล่าวได้รับความน่าสนใจจากนักวิเคราะห์นั่นเอง

"เท่าที่จำได้หลายกรณีอย่าง STARK ปัจจุบันไม่มีแน่ ย้อนไปถึงต้นมกราคม 66 น่าจะมีบทวิเคราะห์เจ้าเดียวถือว่าแปลก และช่วง 3-5 เดือนหลังไม่มีเลย ก่อนที่จะเกิดเรื่องเน่าๆ ก็จะช่วยเป็นข้อสังเกตกับประชาชนได้" นายสมบัติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม "หุ้นกู้" มีหลายเกรด ทั้งระดับเรตติ้งสูงที่ออกอัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่หุ้นกู้เรตติ้งต่ำมาก ก็จะออกอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงไปตามดำดับเรตติ้งที่ได้รับ ซึ่งผู้ลงทุนควรต้องวิเคราะห์หุ้นกู้เนื่องจากการให้อัตราดอกเบี้ยสูงนั้น ไม่ใช่คำตอบของการลงทุน แต่ต้องดูข้อมูลของบริษัทประกอบด้วย

ขณะที่ภาวะในปัจจุบันนั้นยอมรับว่าจากปัญหาการผิดนัดชำระที่เพิ่มมากขึ้นทำให้บริษัทที่จะออกหุ้นกู้มีต้นทุนสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งประชาชนที่เป็นผู้ลงทุนในหุ้นกู้ ก็คิดรอบครอบมากขึ้น ตัดสินใจเข้าซื้อยากขึ้นเช่นกัน หากตัวหุ้นกู้นั้นไม่มีเรตติ้ง