ทิศทางเงินบาทช่วงที่เหลือของปี...จับตาท่าทีเฟด เงินหยวน และปัจจัยเฉพาะของไทย
• แม้ภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี 2566 จะอ่อนค่าในลักษณะเกาะกลุ่มอยู่กลางตารางเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค แต่หากเทียบเฉพาะในเดือนก.ย. 2566 เงินบาทอ่อนค่าเร็วกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย
• นอกจากผลของเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นจากเรื่องดอกเบี้ยสหรัฐฯ เงินบาทยังอ่อนค่าตามเงินหยวน ซึ่งมีความสัมพันธ์กันถึงกว่า 80%
• เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนก.ย. 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนวสำคัญที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือนที่ระดับ 36.34 บาทต่อดอลาร์ฯ (เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2566)
เงินบาทเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าสอดคล้องกับจังหวะการไหลออกของเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งระหว่างวันที่ 1-20 ก.ย. 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยสะสม 18,281 ล้านบาท และมีสถานะในตลาดพันธบัตรไทยอยู่ในฝั่งไหลออกสุทธิรวม 18,898 ล้านบาท
โดยแม้ภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี 2566 จะอ่อนค่าในลักษณะเกาะกลุ่มอยู่กลางตารางเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค (เงินบาทอ่อนค่าลง 4.1% อ่อนค่าเป็นอันดับ 6 ของสกุลเงินเอเชีย)
อย่างไรก็ดี หากเทียบเฉพาะการเคลื่อนไหวในเดือนก.ย. 2566 คงต้องยอมรับว่า อัตราการอ่อนค่าของเงินบาทค่อนข้างเร็วและมากกว่าค่าเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย (เงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 3.0% ขณะที่สกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ไม่นับรวมเงินเยน อ่อนค่าลงในกรอบประมาณ 0.4-1.3% เท่านั้น)
โดยเงินบาททยอยอ่อนค่าลงท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ภายหลังจากตัวเลขจีดีพีของไทยในไตรมาส 2/2566 ขยายตัวน้อยกว่าที่คาด ซึ่งทำให้ต้องมีการปรับทบทวนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจลงมา ประกอบกับมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากทิศทางเงินหยวนซึ่งมีปัจจัยลบจากสัญญาณความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งบ่งชี้ว่า วัฎจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังคงไม่สิ้นสุดลง เพราะอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายของเฟด แม้จะเริ่มชะลอลงมาบ้างก็ตาม
• ต่อภาพออกไปในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1) ท่าทีเฟดและเงินดอลลาร์ฯ 2) ค่าเงินหยวนและเศรษฐกิจจีน และ 3) ปัจจัยเฉพาะของไทย
o เฟดยังน่าจะส่งสัญญาณในเชิงคุมเข้ม ซึ่งอาจหนุนความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ โดยเฟดยังเหลือการประชุมนโยบายการเงิน (FOMC) อีก 2 ครั้งในปีนี้ คือ การประชุม FOMC 31 ต.ค.-1 พ.ย. 2566 และการประชุม FOMC 12-13 ธ.ค. 2566 ซึ่งจากสัญญาณล่าสุด สะท้อนว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจถูกปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้
และหากสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า ยังคงสอดคล้องกับมุมมองของเฟด ก็น่าจะสะท้อนว่า เฟดจะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน และจังหวะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในปี 2567 ก็อาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ
o เงินหยวนของจีนยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า เนื่องจากแนวโน้มที่เปราะบางของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์อาจไม่สามารถแก้ไขให้คลี่คลายลงได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และคงต้องยอมรับว่า การอ่อนค่าของเงินหยวนในปีนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในเอเชียซึ่งรวมถึงค่าเงินบาท
โดยในส่วนของเงินบาทนั้น ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์หรือ Correlation ระหว่างค่าเงินบาทกับค่าเงินหยวนอยู่ที่ 0.81 (ค่า Correlation เข้าใกล้ 1.0 แปลว่า ค่าเงินทั้ง 2 สกุลมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน) ดังนั้น การอ่อนค่าของเงินหยวนที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงตามในบางจังหวะด้วยเช่นกัน
o ปัจจัยเฉพาะของไทย โดยเฉพาะสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดและฐานะการคลัง ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ตลาดรอติดตามอย่างใกล้ชิด โดยแนวโน้มการชะลอตัวของประเทศคู่ค้าและสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นอาจกดดันให้ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอ่อนแอลง ขณะที่มาตรการภาครัฐที่เตรียมจะดำเนินการในระยะข้างหน้า ก็เป็นอีกปัจจัยที่ตลาดรอความชัดเจน เพราะจะมีผลต่อการประเมินสถานะทางการคลัง แนวทางและขนาดการก่อหนี้ รวมไปถึงภาระทางการคลังทั้งในและนอกงบประมาณที่อาจเกิดขึ้นในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้น น่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกดดันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวะที่เฟดยังคงไม่จบรอบวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะยังคงโน้มไปในทิศทางที่อ่อนค่าในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า และอาจทดสอบระดับใกล้ๆ 36.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ (คาดการณ์โดยธนาคารกสิกรไทย)