กนง.ชี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50%ต่อปีเป็นระดับ Neutral rate

27 ก.ย. 2566 | 11:16 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2566 | 11:24 น.

กนง.ชี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50%ต่อปีเป็นระดับ Neutral rate ภายใต้แนวโน้มของเศรษฐกิจที่ประเมินปัจจุบันเผยผลศึกษาการใช้จ่ายภาครัฐส่งผลทวีคูณต่อเศรษฐกิจราว 0.3-0.6% ลั่น “ดิจิทัล วอลเลต”หนุนจีดีพีปีหน้าโตอย่างน้อย 4.4

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังการแถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 27 กันยายน 2566 (ครั้งที่ 5/2566) โดยระบุว่า ภาพรวมทั้งเศรษฐกิจและเงินเฟ้อระยะข้างหน้าปีนี้ฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอกว่าที่คาดไว้ 

แต่ปีหน้ามีโอกาสจะเพิ่มขึ้น   นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากแรงส่งของภาครัฐในแง่ของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต ยังมีความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือระยะเวลาที่อาจจะล่าช้าจากเดือนกุมภาพันธ์ และขนาด ซึ่งเป็นไปได้ที่จะมีแรงส่งมากกว่าที่ได้คาดไว้

 ในส่วนมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนเรื่องรูปแบบ หรือระยะเวลาที่คาดว่าจะเริ่มเดือนก.พ. และขนาดยังไม่แน่นอน  โดยจากที่ประกาศในแง่ของเม็ดเงิน 5.6แสนล้านบาท แต่ต้องดูก่อนว่าการอิมพลีเม้นกระบวนการงบประมาณหรือไฟแนนซ์คือ  ต้องดูหลาย scenario

แต่มาตรการนี้(ดิจิทัล วอลเลต) มาแน่ไม่ว่าจะมารูปแบบไหนก็ตาม ค่อนข้างจะมั่นใจจะทำให้จีดีพีโตอย่างน้อย 4.4% ส่วนจะเป็น 4.4% หรือ4.6%ต้องดูรูปแบบอีกสักระยะ ทั้งนี้ ผลศึกษาจากการใช้จ่ายโดยภาครัฐ ที่ผ่านมาจะส่งผลทวีคูณต่อเศรษฐกิจประมาณ 0.3-0.6เท่า

 

ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปแนวโน้มจะกลับสู่กรอบเป้าหมาย โดยปีนี้คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำที่ 1.6% ปีหน้าอยู่ที่ 2.6% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.5% และ 2.4% ตามลำดับ  อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูง นอกจากแรงส่งอุปสงค์อาจจะสูงขึ้นอาจจะมีซัพพลายช็อคจากนโยบายภาครัฐ ต้นทุนราคาอาหาร ราคาน้ำมัน ละแอลนิโญ  

 โดยรวมภายใต้ภาพดังกล่าว คณะกรรมการกนง.จึงให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้เป็น 2.50%จาก 2.25%ต่อปี พร้อมปรับลดประมาณการปีนี้เหลือโต 2.8% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.6% โดยปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 28.5ล้านคนจาก 29ล้านคน และปีหน้าขยายตัวเป็น 4.4% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.8%โดยได้รวมมาตรการภาครัฐแล้วและคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 35 ล้านคนจากเดิมคาดไว้ 35.5ล้านคน

กนง.ชี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50%ต่อปีเป็นระดับ Neutral rate

“ หลักๆ คณะกรรมการพิจารณา 3ปัจจัย คือ ต้องมั่นใจเศรษฐกิจเข้าสู่ระดับศักยภาพ  , เงินเฟ้อโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย  ,และศักยภาพของระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีไม่มีปัญหา  ฉะนั้นภาพของ 3องค์ประกอบหลักไม่เปลี่ยนแปลง   อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีอยู่ก็เป็นระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือNeutral rate ภายใต้แนวโน้มของเศรษฐกิจที่ประเมินณ ตอนนี้”

ต่อข้อถามความกังวลจากหลายหน่วยงาน “เรื่องเสถียรภาพทางการคลังของประเทศไทยนั้น” ดร.ปิติกล่าวว่า ภาคการคลังของไทยมีศักยภาพค่อนข้างมาก  ในแง่จุดตั้งต้นถือว่าดี  โดยเฉพาะเทียบกับต่างประเทศ หนี้ของไทยก็ไม่ได้อยู่ในระดับสูงมาก  มองแนวโน้มไปข้างหน้าเศรษฐกิจเติบโตตามแนวโน้มศักยภาพ ศักยภาพของภาครัฐในการที่จะก่อหนี้เพิ่มในระดับหนึ่งยังมีอยู่ไม่เป็นประเด็นต่อความยั่งยืนในระยะยาว

“ เรื่องนี้รัฐบาลพิจารณาอยู่ค่อนข้างใกล้ชิด เพราะวิธีการ รูปแบบไฟแนนซ์มีผลต่อเครดิตเอเจนซี่ และความยั่งยืนทางด้านการคลังของประเทศด้วย ทางรัฐบาลตระหนักเรื่องนี้อย่างยิ่ง คงหาทางออกที่ดีที่สุดให้มีความชัดเจนออกมา แต่ภาพรวมของศักยภาพด้านการคลังของไทยถือว่าดี

เพียงแต่ช่วงนี้อาจจะเป็นเรื่องของความไม่ชัดเจนว่าซัพพลายพันธบัตรจะออกมามากน้อยขนาดไหน ซึ่งคณะกรรมการได้คำนึงถึงตลาดการเงินเรื่องนี้อยู่และเป็นสิ่งที่คณะกรรมการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป”

ต่อข้อถามความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน  ดร.ปิติกล่าวว่า   ภาพรวมเงินบาทยังคงสอดคล้องกับภูมิภาค  หากดูตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่า 3-4% เป็นความผันผวน ยกตัวอย่าง ทิศทางสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงิน 

ดังนั้น การอ่อนค่าของเงินบาทไม่ได้หลุดจากปัจจัยพื้นฐาน   ซึ่งการอ่อนค่าของเงินบาทยังมีประโยชน์และสนับสนุนภาคการส่งออกรองรับแรงกระแทกได้ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทยังไม่ได้เกิดพลวัตรที่น่าเป็นห่วง