นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.หรือแบงก์ชาติ) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 มีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจเดือนก.ย.ยังฟื้นตัวได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออก ขณะอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงบ้าง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก ขณะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็ปรับลดเล็กน้อยจากอาหารสำเร็จรูป
ส่วนภาพรวมของไตรมาสที่ 3 จะเห็นเศรษฐกิจปรับดีขึ้นจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคบริการที่ขยายตัวได้ ตามจำนวนนักท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีการลงทุนในภาคเอกชนปรับลดลงในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ส่วนแนวโน้มเดือนต.ค.และระยะต่อไปน่าจะฟื้นตัวได้โดยเฉพาะตามอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยวแต่ยังจับตาเรื่องการส่งออก นโยบายของภาครัฐ ผลกระทบของแอลนีโญต่อผลผลิต ราคาสินค้าเกษตรและราคาพลังงานจากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส และอุปสงค์ต่างประเทศหรือประเทศคู่ค้าของไทย
ทั้งนี้เครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนก.ย.นั้น เห็นได้จากภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระเอก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 2.1ล้านคน น้อยกว่าเดือนก่อนเล็กน้อยแต่หากดูตามฤดูกาลนักท่องเที่ยวเดือนก.ย.ปกติจะน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าอยู่แล้ว
ฉะนั้นถ้าปรับฤดูกาลจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก เกือบในทุกสัญชาติ ยกเว้น มาเลเซีย ออสเตรเลียและญี่ปุ่น ที่ได้เร่งเข้ามาแล้วในช่วงก่อนหน้า การมีวันหยุดต่อเนื่องก็มีส่วนทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เช่น เกาหลี อินเดียที่วันหยุดเหลื่อมกันนอกจากนั้นยังมีผลดีจากมาตรฟรีวีซ่า ขณะเดียวกันด้านรายได้จากการท่องเที่ยวก็ปรับเพิ่มขึ้น
สำหรับภาพรวมทั้งไตรมาส 3 จำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 7.1ล้านคน เพิ่มจาก 6.4ล้านคนเมื่อไตรมาส2ที่ผ่านมาและตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนก.ย.จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 20ล้านคน
ส่วนดัชนีการผลิตภาคบริการโดยรวมขยายตัวได้ 1.4%ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหลักๆมาจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเช่น โรงแรม ขนส่งผู้โดยสาร ร้านอาหาร ส่วนภาคการค้าก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน ตามการนำเข้าสินค้าโดยมีการเปิดตัวมือถือรุ่นใหม่และรถยนต์ไฟฟ้าในเดือนก.ย.ทำให้ขนส่งสินค้าปรับดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ไตรมาส3 ภารบริการขยายตัวได้ 2.4%หลักๆมาจาก ภาคการค้าและขนส่งสินค้า ที่ขยายตัวได้ตามการผลิต
สำหรับมูลค่าการส่งออกเดือนก.ย.ขยายตัว 4.6%จากเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มสินค้าที่ส่งออกได้มากขึ้น เช่น อัญมณี สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป (ข้าว,ปาล์มน้ำมัน,แป้งมันสัมปะหลัง)เป็นการส่งออกไปอัฟริกาใต้ เบนิน อินเดีย และจีน รวมทั้งสินค้าที่ราคาเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน เช่น
สินค้าที่ส่งออกปรับลดลง เช่น รถกระบะ(ออสเตรเลีย ยุโรป นิวซีแลนด์ ) และการส่งออกแผงโซล่าร์เซลล์ไปสหรัฐซึ่งเร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ส่วนมูลค่าการส่งออกทั้งไตรมาส3เพิ่มขึ้นขึ้น 1.1%จากไตรมาสก่อน หลักๆมาจากการส่งออกยานยนต์ไปอาเซียน ตะวันออกกลาง และสหรัฐฯรวมถึงการส่งออกปิโตรเลียมไปอาเซียน
ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 0.3% โดยขยายตัวในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม ฮาร์ตดิสไดร์ฟ และการผลิตยางและพลาสติก ส่วนหมวดที่หดตัวในเดือนก.ย.เช่น รถกระบะที่เร่งผลิตไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และปิโตรเลียมที่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นชั่วคราวโดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งไตรมาสที่สาม ขยายตัว 1.5%หลักๆมาจากการผลิตน้ำตาล
ส่วนอุปสงค์ในประเทศชะลอลง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนชะลอลง0.5%จากเดือก่อนหน้า เหตุจากที่ได้เร่งไปแล้ว โดยสินค้าไม่คงทนลดลงตามยอดจำหน่าย เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว ของใช้ส่วนตัว ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง หลังจากเร่งไปแล้วในช่วงหยุดยาวเดือนก่อนหน้า รวมถึงราคาน้ำมันเบนซินที่ยังสูง อย่างไรก็ดียังคงเห็นการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
หมวดกึ่งคงทนปรับลดลงตามสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ส่วนหมวดสินค้าคงทน ทรงตัว มียอดจดทะเบียนรถยนต์ ยอดขายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ กระบะที่ปรับลดลงจากความเข้มงวดในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ ขณะยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลปรับดีขึ้น
ด้านหมวดบริการปรับเพิ่มขึ้นในทุกองค์ประกอบ ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการพักแรมที่เพิ่มขึ้น แต่ทั้งไตรมาส3 เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นที่ 0.5%จากไตรมาสก่อนหน้า แม้จะเห็นการบริโภคที่ชะลอลงบ้างแต่ยังมีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนการบริโภค ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ภาพรวมปรับดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2หลักๆมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ
และอีกปัจจัยที่ยังสนับสนุนการบริโภคคือ ตลาดแรงงาน โดยเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสะท้อนจาก จำนวนผู้ประกันตน (มาตรา 33) ปรับดีขึ้นทั้งในภาคบริการและภาคการผลิต ขณะสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิ์การว่างงาน ที่เป็นสัดส่วนกับผู้ประกันตน(มาตรา 33)ปรับลดลงเกือบทุกสาขา
นอกจากนั้นข้อมูลการนำเข้าแรงงานต่างชาติปรับเพิ่มขึ้น อุปสงค์แรงงานเดือนก.ย.ก็ปรับดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากอัตราการได้งานทำที่เพิ่มขึ้น โดยภาพรวมไตรมาสตลาดแรงงานยังฟื้นตัวได้
นางสาวชญาวดี ระบุว่าจากการสอบถามผู้บริโภคพบว่ายังมีความกังวลของผู้บริโภคในเรื่อง ค่าครองชีพที่ยังสูง สถานการณ์ภัยแล้ง สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินโลกและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะมีผลต่อการส่งออกในระยะต่อไป
สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนชะลอลง 1.2%จากเดือนก่อน มาจากทั้ง เครื่องจักรและอุปกรณ์ ลดลงจากยอดจดทะเบียนรถยนต์ เชิงพาณิชย์ รวมถึงเครื่องจักรในประเทศ หมวดก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง (เสาเข็ม ซิเมนต์ เครื่องสุขภัณฑ์) ซึ่งเร่งไปแล้วในเดือนก่อน อีกทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างลดลงเกือบทุกหมวด ยกเว้นพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงาน ที่ยังเห็นการปรับเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ภาพรวมในไตรมาสที่3 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ลดลงที่ 1.1%จากไตรมาสก่อนหน้า หลักๆมาจากด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์โดยเฉพาะรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่เห็นภาคการผลิตและการส่งออกที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน จึงอาจจะไม่ลงทุนช่วงนี้มากนัก
นอกจากนี้ด้านความเชื่อมั่นด้านการลงทุน ยังอยู่เหนือระดับ 50 ทั้งภาคการผลิตและที่ไม่ใช่ภาคการผลิต โดยภาคที่ไม่ใช่การผลิตปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากบริการทางการเงินและค้าปลีก ในขณะที่ภาคการผลิตปรับลดลงจากการผลิตอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ อาหารเครื่องดื่ม เครื่องจักรและยานยนต์
ด้านรายจ่ายรัฐบาล(ที่ไม่รวมเงินโอน)หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำ (หดตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าบริการ)ส่วนรายจ่ายลงทุนของภาครัฐลดลง ตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคม ที่เร่งเบิกจ่ายไปแล้ว ด้านรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านคมนาคมด้วย
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.30% ปรับตัวลดลงจาก 0.88%ในเดือนก่อนหน้า โดยเงินเฟ้อในหมวดอาหาร สดลดลงจากฐานที่สูงปีก่อน และผักผลไม้เนื้อสัตว์ ที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นทำให้ราคาลดลง ส่วนเงินเฟ้อหมวดพลังลดลงจากมาตรการภาครัฐ แม้ราคาเบนซินจะปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดจาก 0.79% เป็น 0.63%ในเดือนก.ย. โดยในไตรมาส 3ภาพรวมของเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.52% ลดลงจากไตรมาสก่อนจากหมวดอาหารและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานรวมถึงฐานสูงในไตรมาส3ปีที่แล้ว
ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ที่ 3.4พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบจากเดือนก่อนอยู่ที่ 0.4พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯโดยมาจาก 2องค์ประกอบ คือ ดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้น ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นและดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ตามรายจ่ายค่าทรัพย์สินทางปัญญา โดยดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งไตรมาส3เกินดุลที่ 3.3พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯจาก ขาดดดุล 2.5พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในไตรมาสก่อน เนื่องจากดุลการค้าปรับดีขึ้นและดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง
ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเดือนก.ย. "อ่อนค่าลง"จาก 3ปัจจัยหลักได้แก่
1.เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น หลังจากตลาดคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะอยู่ในระดับสูงที่ยาวนาน
2.การอ่อนค่าของเงินหยวนจากเศรษฐกิจจีนที่ยังเปราะบาง
3.นักลงทุนรอความชัดเจนจากมาตรการภาครัฐที่อาจจะมีนัยยะต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพ โดยดัชนีค่าเงินภาพรวมในเดือนก.ย.เฉลี่ยอ่อนค่าลงจากเงินบาทที่ปรับอ่อนค่านำสกุลเงินอื่นในภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เฉพาะเดือนต.ค.( 1-20ต.ค.2566) เงินบาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงจากความกังวลต่อผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ขณะที่ดัชนีค่าเงินต่อเงินบาทก็อ่อนค่าลง