ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 22มี.ค. “อ่อนค่าหนัก”ที่ระดับ 36.33 บาทต่อดอลลาร์

22 มี.ค. 2567 | 00:29 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2567 | 02:31 น.

ค่าเงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ หากสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้ง เงินปอนด์อังกฤษ และเงินยูโร อ่อนค่าลงต่อเนื่อง

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้  22มี.ค. 2567 ที่ระดับ 36.33 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.05 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การพลิกกลับมาอ่อนค่าเกินกว่าคาดของเงินบาทนั้น ทำให้เราต้องประเมินใหม่ ว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ได้

โดยจังหวะดังกล่าว อาจเกิดขึ้นได้ไม่ยาก หากสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้ง เงินปอนด์อังกฤษ และเงินยูโร อ่อนค่าลงต่อเนื่อง จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจในวันนี้ที่ออกมาแย่กว่าคาด หรือสะท้อนการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจฝั่งยุโรปมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักฝั่งยุโรปที่อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

 อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินที่อาจทำให้ นักลงทุนต่างชาติยังพอกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้บ้าง โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทได้อ่อนค่าลงมาพอสมควรแล้ว

นอกจากนี้ ในเบื้องต้น เรายังคงมุมมองเดิม Call Peak เงินบาท แถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ไว้ตามเดิมที่ได้ประเมินไว้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เนื่องจาก มุมมองของเราต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง

อีกทั้ง ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนในเชิง Valuation ค่าเงินบาทแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ก็เป็นโซนที่เงินบาท Undervalued พอสมควร ทำให้เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอย SELL on RALLY USDTHB ได้

อนึ่ง เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.40 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 36.20 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ (แกว่งตัวในช่วง 36.02-36.33 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์

นับตั้งแต่ตลาดรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ที่ “เซอร์ไพรส์” ตลาดด้วยการลดดอกเบี้ย -25bps สู่ระดับ 1.50% กดดันให้ค่าเงินฟรังก์สวิส (CHF) อ่อนค่าลงหนัก

ถัดมาเงินดอลลาร์ก็ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ล่าสุด ทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า BOE มีโอกาสเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงเดือนมิถุนายน เร็วขึ้นจากที่เคยประเมินไว้ในช่วงไตรมาส 3

นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ยังได้กดดันให้ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลงแรง -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซนแนวรับระยะสั้นอีกครั้ง กดดันให้เงินบาทยิ่งผันผวนอ่อนค่าหนักตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมทองคำ

มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อในคาดการณ์เศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดล่าสุด ยังคงช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ขณะเดียวกันรายงานผลประกอบการของ Micron Tech. +14% ที่ออกมาสดใส ยังช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor ปรับตัวขึ้นต่อได้

โดยเฉพาะหุ้นใหญ่ อย่าง Nvidia +1.2% ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เผชิญแรงกดดันบ้าง จากการปรับตัวลงของ Apple -4.1% จากการถูกฟ้องข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดตลาด ทำให้ ดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว +0.32%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นกว่า +0.90% หนุนโดยรายงานข้อมูลดัชนี PMI ของฝั่งยุโรปที่โดยรวมยังออกมาดูดี กอปรกับ ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางฝั่งยุโรปมากขึ้น ส่งผลให้ บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้นแรง อาทิ ASML +5.6%, SAP +4.1%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.25% หลังผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ ทว่าในระหว่างช่วงการซื้อขาย บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ทั้งยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims)

และดัชนี PMI ภาคการผลิต ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมไม่เปลี่ยน ต่อแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทำให้ เรามองว่า หากบอนด์ยีลด์ระยะยาว ไม่ว่าจะของสหรัฐฯ หรือประเทศอื่นๆ มีการปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น ก็จะเปิดโอกาสในการเข้าทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวได้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงของสกุลเงินหลัก ทั้ง เงินฟรังก์สวิส (CHF) และ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) จากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสวิตฯ (SNB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)

ทั้งนี้ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และมุมมองผู้เล่นในตลาดที่ยังเชื่อว่า เฟดน่าจะลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ ยังเป็นปัจจัยที่จำกัดการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.4-104.1 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์และจังหวะการปรับตัวขึ้นบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวลงหนักราว -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซน 2,180 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยจังหวะการปรับตัวลงดังกล่าวของราคาทองคำ ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ตามโฟลว์ธุรกรรมเข้าซื้อทองคำของผู้เล่นในตลาด

 สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ จะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรปเป็นหลัก ทั้งยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) ในระยะสั้นได้

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 เดือนที่ 36.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 36.42-36.44 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.28 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 36.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ

โดยเงินบาทยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากสัญญาณ Dovish ของธนาคารกลางอื่นๆ ที่มีการประชุมเมื่อวานนี้ ทั้งธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยในส่วนของ SNB มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนอกเหนือความคาดหมาย 25 bps. มาที่ระดับ 1.50% ขณะที่ BOE ประเมินว่า สถานการณ์เศรษฐกิจกำลังโน้มไปในทางที่ทำให้ BOE เตรียมผ่อนคลายนโยบายการเงิน นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก

สวนทางกับเงินดอลลาร์ฯ ที่มีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ปรับตัวลง และยอดขายบ้านมือสองเดือนก.พ. ที่เพิ่มขึ้นกว่าที่ตลาดคาด) 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 36.20-36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศ อาทิ อัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของญี่ปุ่น และตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนก.พ. ของอังกฤษ