นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากหลายพื้นที่ในเขตภาคเหนือและภาคกลางตอนบนต้องประสบกับเหตุอุทกภัย ทำให้ประชาชนและลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน
เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงินในภาวะเร่งด่วนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ธปท. จึงผ่อนปรนหลักเกณฑ์ และขอความร่วมมือสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่มิใช่สถาบันการเงิน ในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามความจำเป็นและเหมาะสม
โดยครอบคลุมลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรืออยู่ในระดับสถานการณ์สาธารณภัยสีเหลือง สีส้ม หรือสีแดง โดยมีแนวทางปฏิบัติในกรณีต่าง ๆ ดังนี้
1. สินเชื่อบัตรเครดิต สามารถพิจารณาปรับลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ให้ต่ำกว่าอัตราที่ ธปท. กำหนดได้ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่พื้นที่นั้น ๆ ถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย
2. สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล สามารถพิจารณาเงื่อนไขวงเงินชั่วคราวกรณีฉุกเฉินให้เกินกว่าอัตราที่ ธปท. กำหนดได้ เพื่อให้ลูกหนี้มีแหล่งเงินทุนฉุกเฉินเพียงพอสำหรับการฟื้นฟูความเสียหายอันเนื่องมาจากปัญหาสาธารณภัย โดยให้อนุมัติวงเงินดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ไม่เกิน 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่พื้นที่นั้น ๆ ถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย
3. สินเชื่อทุกประเภท สามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อได้ รวมถึงการปรับเงื่อนไข เช่น ลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้
โดยให้อนุมัติวงเงินดังกล่าวโดยเร็ว ไม่เกิน 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่พื้นที่นั้น ๆ ถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ทั้งนี้ ระหว่างให้ความช่วยเหลือ ธปท. จะผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ ให้คงการจัดชั้นเดิมเช่นเดียวกับก่อนประสบสาธารณภัยได้
ธปท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยจะได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่มิใช่สถาบันการเงินทุกแห่ง เพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ โดยลูกหนี้สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่มิใช่สถาบันการเงินที่ท่านใช้บริการได้โดยตรง