ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้18ก.ย. ที่ระดับ 33.39 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัว sideways ไปก่อนได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟด ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ นี้
อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทอาจมีจังหวะอ่อนค่าลงได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวของผู้เล่นในตลาดบางส่วน หลังราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงมาบ้าง จากจุดสูงสุดใหม่
นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติและผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยได้บ้าง รวมถึงสถานะ Net Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) ก่อนที่จะรับรู้ผลการประชุมเฟด อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าลงของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้ส่งออกบางส่วนก็อาจรอจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง ในการทยอยขายเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในตลาดช่วงทยอยรับรู้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ โดยหากอัตราเงินเฟ้ออังกฤษชะลอลงชัดเจนและต่ำกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสที่ BOE จะสามารถลดดอกเบี้ยได้มากกว่า -50bps ในปีนี้ได้ ซึ่งอาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงได้บ้าง แต่อาจไม่มากนัก เนื่องจากสุดท้าย ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุม FOMC
แม้เราจะคงมุมมองเดิมที่แตกต่างจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดว่า เฟดจะทยอยลดดอกเบี้ยราว -25bps ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ ส่วน Dot Plot ใหม่ก็จะไม่ได้สะท้อนถึงแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด อย่างที่ตลาดคาดหวัง
ซึ่งในกรณีดังกล่าว อาจเห็นการปรับตัวขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ซึ่งจะกดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้ไม่ยาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การออกมาสนับสนุนการเร่งลดดอกเบี้ย –50bps ของเฟดในการประชุมเดือนกันยายนนี้
โดยบรรดาอดีตเจ้าหน้าที่เฟด อดีตที่ปรึกษาประธานเฟด และอดีตนักเศรษฐกิจศาสตร์ของเฟด ทำให้เรามองว่า เฟดก็อาจเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ได้จริง ตามที่ตลาดกำลังคาดหวัง (สวนทางกับที่เราประเมินไว้) แต่เรามองว่า ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ Dot Plot ใหม่ ของเฟดว่าจะมีแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในอัตราเร่งตามที่ตลาดกำลังคาดหวังหรือไม่ และเฟดจะทยอยลดดอกเบี้ยลงไปถึงระดับไหน (Long-run Rate)
โดยในกรณีที่ มุมมองของเรานั้นถูกต้อง เฟดไม่ได้เร่งลดดอกเบี้ยและไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งลดดอกเบี้ยผ่าน Dot Plot ใหม่ ตามที่ตลาดกำลังคาดหวัง เงินดอลลาร์และบอนดยีลด์สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง ส่วนเงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าลงได้เร็วจนอาจเข้าใกล้โซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้
ทว่า หากเฟดเร่งลดดอกเบี้ยได้จริงตามที่ตลาดคาดหวัง ส่วน Dot Plot ใหม่ ก็ไม่ได้ต่างจากที่ตลาดประเมินไว้มาก ในกรณีนี้ หากแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดดังกล่าว ไม่ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนัก หรือ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะขึ้นกับการสื่อสารของเฟดและคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจใหม่
เรามองว่า บรรยากาศอาจยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงได้ (Risk-On) ซึ่งอาจเห็นการปรับตัวลดลงบ้างของเงินดอลลาร์ ขณะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจทรงตัว ส่วนราคาทองคำก็อาจปรับตัวขึ้นทดสอบจุดสูงสุดใหม่ก่อนหน้าอีกครั้ง ทำให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ หากเฟดเร่งลดดอกเบี้ย และส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยต่อเนื่องอย่างที่ตลาดคาดหวัง แต่การสื่อสารของเฟด กลับทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงหนัก หรือ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
เรามองว่า ในกรณีนี้ อาจเห็นการอ่อนค่าลงได้พอสมควรของเงินดอลลาร์ หากผู้เล่นในตลาดเร่งเพิ่มสถานะ Net Long JPY (มองเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น) ตามความต้องการถือเงินเยนเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ส่วนราคาทองคำอาจปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เช่นกัน ทำให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ เปิดโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ถึงโซน 32.50-32.75 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี หากเฟดเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในการประชุมครั้งนี้ แต่กลับไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งลดดอกเบี้ยต่อเนื่องอย่างที่ตลาดคาดหวัง เรามองว่า เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เสี่ยงที่จะปรับตัวสูงขึ้นบ้าง กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาท ทว่า แรงกดดันดังกล่าวอาจไม่มากนัก เมื่อเทียบกับกรณีที่เฟดไม่ได้เร่งลดดอกเบี้ย ทำให้เงินบาทอาจอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแรกแถว 33.70-33.80 บาทต่อดอลลาร์
เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.50 บาท/ดอลลาร์ (ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม FOMC)
และประเมินกรอบเงินบาทในช่วง 33.00-34.00 บาท/ดอลลาร์ (ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC)
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลงเล็กน้อย เข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.40 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ในวันก่อนหน้า หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และ ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนสิงหาคม ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
ยังได้กดดันให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวลดลงเกือบ -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 2,560-2,570 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว
เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างคงคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ของเฟดในการประชุม FOMC เดือนกันยายนที่จะถึงนี้ และแนวโน้มการลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องพอสมควรของเฟด สำหรับวัฏจักรการลดดอกเบี้ยรอบนี้ โดยโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง
แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด จะช่วยให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ คลายกังวลความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงหนักไปบ้าง ทว่า ผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่รีบเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติมมากนัก เพื่อรอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟด เดือนกันยายนก่อน ทำให้โดยรวมตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผสมผสาน โดยบรรหาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (The Magnificent 7) ต่างก็ไม่ได้ปรับตัวขึ้นชัดเจน ส่งผลให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.03%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.40% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นบ้างของหุ้นกลุ่มสไตล์ Growth และหุ้นกลุ่มเทคฯ อย่างหุ้นธีม AI/Semiconductor ท่ามกลางความหวังของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดยังมีโอกาสเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ดี นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบทยอยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 3.64% หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดจะเริ่มเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ได้ในการประชุมเดือนกันยายนนี้
และเฟดก็ยังมีโอกาสเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกไม่น้อยกว่า -125bps ในปีหน้า ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง หากเฟดไม่ได้เร่งลดดอกเบี้ยและไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งลดดอกเบี้ย อย่างที่ตลาดกำลังคาดหวัง โดยเราคงเน้นกลยุทธ์ “Buy on Dip”
หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะถือครองบอนด์ระยะยาวอยู่แล้วนั้น ก็สามารถ Let Profits Run หรืออาจพิจารณาทยอยขายทำกำไรได้บ้าง ตามความเหมาะสม (Sell on Rally)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่มีจังหวะอ่อนค่าลงทะลุโซน 142 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 100.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.5-101 จุด)
ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ออกมาดีกว่าคาด ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2,590 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้างกลับสู่โซน 2,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามแรงซื้อของผู้เล่นในตลาดในจังหวะราคาทองคำย่อตัว หลังผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด
สำหรับวันนี้ ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ในเดือนสิงหาคม เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยหากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น ก็อาจเปิดโอกาสให้ BOE สามารถทยอยลดดอกเบี้ยนโยบายได้อีกราว -50bps ในปีนี้ ตามที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ก่อนที่ตลาดจะรับรู้ผลการประชุมเฟด ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานข้อมูลตลาดบ้านสหรัฐฯ รวมถึง คาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 โดย Atlanta Fed พร้อมทั้งจับตารายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นได้
ส่วนในช่วงราว 01.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ของเช้าวันพฤหัสฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุม FOMC เดือนกันยายน โดยเราประเมินว่า เฟดจะเริ่มวัฏจักรนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ด้วยการทยอยลดดอกเบี้ย -25bps สู่ระดับ 5.00%-5.25% พร้อมกันนั้นคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด หรือ Dot Plot ใหม่ อาจสะท้อนแนวโน้มการลดดอกเบี้ยราว -75pbs ในปีนี้
การลดดอกเบี้ยอีกราว -100bps ในปี 2025 และ การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปี 2026 ราว -75bps จนถึงระดับ 2.75%-3.00% พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ใหม่ของเฟด (Summary of Economic Projections) และรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ในช่วง Press Conference อย่างใกล้ชิด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.35-33.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (8.40 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.29 บาทต่อดอลลาร์ฯ
โดยแม้เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวเป็นกรอบ แต่ก็ยังคงเป็นกรอบที่อ่อนค่าลงสอดคล้องกับการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก หลังจากที่ตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด (US retail sales +0.1% MoM ในเดือนส.ค. ตลาดคาดที่ -0.2% MoM) กระตุ้นให้มีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชั่นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ก็เป็นปัจจัยบวกเพิ่มเติมของเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.30-33.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของอังกฤษ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนส.ค.ของสหรัฐฯ และผลการประชุมและ dot plot ของเฟด