ค่าเงินบาทปิดตลาดวันที่ 27ก.ย.ที่ระดับ 32.39 บาทต่อดอลลาร์

27 ก.ย. 2567 | 11:17 น.
อัพเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2567 | 11:26 น.

ค่าเงินบาทพลิกแข็งค่ากลับลงมาอีกครั้งในช่วงบ่ายตามทิศทางค่าเงินเยนที่ขยับแข็งค่าขึ้น อย่างมาก -กรอบในสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 30ก.ย.- 4ต.ค.2567 ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 32.10-32.70 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 32.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.56 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงเช้า แต่พลิกแข็งค่ากลับลงมาอีกครั้งในช่วงบ่ายตามทิศทางค่าเงินเยนที่ขยับแข็งค่าขึ้น อย่างมาก รับชัยชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ของนาบชิเงรุ อิชิบะ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่นในวันนี้ โดยนายอิชิบะ มีท่าทีสนับสนุนแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของ BOJ

 

ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ยังไม่มีแรงหนุนเข้ามามากนัก เนื่องจากตลาดยังคงรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในคืนนี้อย่างใกล้ชิด สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์ในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 1,804.24 ล้านบาท และ 8,637 ล้านบาท ตามลำดับ

ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 27 กันยายน จากเว็บไซต์ ธปท. อยู่ที่ -22.13 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ -18.51 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 30ก.ย.- 4ต.ค.2567 ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 32.10-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนส.ค. ของธปท. ถ้อยแถลงของประธานเฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนก.ย. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนส.ค.

และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนี PMI เดือนก.ย. ของจีน ญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/67 ของอังกฤษ และอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน