ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 6พ.ย. “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์

06 พ.ย. 2567 | 01:10 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2567 | 03:28 น.

ค่าเงินบาทอยู่ในช่วงผันผวนสูงกว่าปกติอาจแกว่งตัวในกรอบเกิน 1%หรือเกิน 40สตางค์รวมถึงสินทรัพย์อื่นในตลาดเงินเคลื่อนไหวผันผวนตามแนวโน้มผู้ชนะเลือกตั้งควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลซึ่งอาจสูสีพอสมควร

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 6พ.ย. 2567 ที่ระดับ  33.55 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย  จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.62 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาท รวมถึงสินทรัพย์อื่นๆ ในตลาดการเงิน มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนสูงกว่าช่วงปกติ ในระหว่างตลาดทยอยรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ

โดยการเคลื่อนไหวของเงินบาทอาจผันผวนไปตามแนวโน้มผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยจากข้อมูลสถิติในอดีตตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2016 พบว่า เงินบาทอาจผันผวนในกรอบ 0.6% ซึ่งอาจดูไม่กว้างมากนัก ทว่าในปัจจุบัน เงินบาทได้อยู่ในช่วงผันผวนสูงกว่าปกติ ทำให้มีโอกาสที่เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบที่กว้างขึ้นเกิน 2 เท่า จากค่าเฉลี่ยในอดีตได้ เช่น เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบเกิน 1% หรือ เกิน 40 สตางค์ ได้

เราประเมินว่า หากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ เป็นไปตามกรณี Base Case ที่เราประเมินว่า คือ Trump w/Divided Congress ซึ่งเรายอมรับว่า อาจรับรู้แนวโน้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี ก่อนการเลือกตั้งในส่วนของวุฒิสภาและสภาผู้แทนฯ ได้

ผู้เล่นในตลาดอาจตอบรับ แนวโน้มที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ด้วยการเพิ่มสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades หนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้นต่อ กดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงกลับไปทดสอบโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

ในทางกลับกัน หาก กมลา แฮร์ริส สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ พรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสได้สำเร็จ (Democrat Trifecta, Blue Sweep) ก็จะเป็นกรณีที่ยิ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเร่งปรับลดสถานะถือครองสินทรัพย์ธีม Trump Trades

กดดันให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวลดลงได้พอสมควร (เรามอง Asymmetric risk สำหรับ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ โดยการปรับตัวขึ้นอาจไม่มาก เท่าการปรับตัวลดลง) หนุนให้ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับเงินบาทที่อาจแข็งค่าขึ้น จนเสี่ยงทะลุโซนแนวรับหลัก 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ 

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งอาจสูสีได้พอสมควร)

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 33.53-33.67 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์ยังคงทยอยอ่อนค่าลง ตามแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ในธีม Trump Trades ก่อนที่ตลาดจะรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ

แม้ว่า เงินดอลลาร์จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ เดือนตุลาคม ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 56 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้พอสมควรก็ตาม นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) เข้าใกล้โซน 2,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างก็ทยอยปรับตัวลดลงในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ

แม้ว่าผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างก็รอลุ้นผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทว่าบรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ได้แรงหนุนจากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ เดือนตุลาคม ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.23%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นเพียง +0.06% กดดันโดยแรงขายหุ้น AstraZeneca -8.4% ซึ่งส่งผลให้บรรดาหุ้นกลุ่ม Healthcare ต่างเผชิญแรงขายออกมาบ้าง หลังมีรายงานข่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงของ AstraZeneca อาจพัวพันกับคดีฉ้อโกงประกันภัยในจีน ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ และการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ sideways แถวโซน 4.30% แม้จะมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้โซน 4.40% บ้าง หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคบริการ ของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม ออกมาดีกว่าคาดพอสมควร

ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด แต่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องไปได้ไกล หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว

โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ และบางส่วนก็เริ่มปรับลดความคาดหวังต่อโอกาสที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นกลับสู่ระดับที่มีความน่าสนใจ และมี Risk-Reward ที่คุ้มค่ามากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะบอนด์ยีลด์ ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อทยอยเข้าซื้อ (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ตามแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ในธีม Trump Trades แม้ว่าเงินดอลลาร์จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่โซน 103.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.4-103.8 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าจังหวะการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจกดดัน ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ให้ย่อตัวลงได้บ้าง ทว่า ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนอยู่ ตามความต้องการของผู้เล่นในตลาดเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ส่งผลให้ราคาทองคำ สามารถรีบาวด์ขึ้นและแกว่งตัวแถวโซน 2,750-2,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งเราประเมินว่า ผลการเลือกตั้งอาจจะรู้อย่างเร็วสุดในช่วงบ่ายของวันนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า การนับคะแนนการเลือกตั้งอาจใช้เวลานานหลายวัน จนกว่าจะรู้ผลการเลือกตั้งได้ เหมือนกับการเลือกตั้งปี 2020 อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินอาจเคลื่อนไหวผันผวนสูง ตามการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มผู้ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของเวียดนาม อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) และอัตราเงินเฟ้อ CPI เป็นต้น

และในฝั่งไทย บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ของไทยในเดือนตุลาคม มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 0.96% เข้าใกล้กรอบเป้าหมาย 1%-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทยมากขึ้น หนุนโดยการฟื้นตัวของการบริโภคในช่วงปลายปี ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทอ่อนค่ากลับมาใกล้ๆ แนว 33.80 โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.80-33.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (8.40 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาท และสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย รวมถึงเงินเยนและเงินหยวน ขยับอ่อนค่าลงในช่วงเช้าวันนี้ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุน เช่นเดียวกับบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นในช่วงรอลุ้นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีคงต้องระมัดระวังกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่อาจมีความผันผวนในระหว่างวันด้วยเช่นกัน   

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.70-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ  ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. ของไทย รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น และยูโรโซน