เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนที่ 34.46 ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 34.26 บาทต่อดอลลาร์ฯเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าในช่วงแรกสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค (รับข่าวนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง) ประกอบกับน่าจะมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม เงินบาทฟื้นตัวกลับมาบางส่วนในช่วงบ่าย ตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และน่าจะมีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชั่นก่อนลุ้นผลการประชุมเฟดคืนนี้
สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์ในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,744.4 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 10,796 ล้านบาท
ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 จากเว็บไซต์ ธปท. อยู่ที่ -23.12 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ -19.57 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า)
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 34.15-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม
ได้แก่ การตอบรับของตลาดต่อผลการประชุมเฟดและสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ และตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ขั้นต้นเดือนพ.ย.
ในช่วงบ่ายวันเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกเอกสารเผยแพร่สถานการณ์ค่าเงินบาท และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
โดยนางสาวภาวิณี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนจากความไม่แน่นอนเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยหลังจากที่นาย Donald Trump ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ปรับแข็งค่าขึ้น ตามการคาดการณ์แนวนโยบายในระยะถัดไป ส่งผลให้เงินบาทปรับอ่อนค่าลงสอดคล้องกับภูมิภาคมาเคลื่อนไหวเหนือระดับ 34.20 บาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย 0.42% โดยการเคลื่อนไหวของเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายยังอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินและค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง โดย ธปท. ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด