กูรูชี้ การกลับมา "ทรัมป์" ขึ้นภาษีสินค้าจีน กระทบไทยแน่

15 พ.ย. 2567 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 09:50 น.

โบรกส่องนโยบายขึ้นกำแพงภาษี "ทรัมป์" สร้างแรงกระเพื่อมกระทบเศรษฐกิจไทย การส่งออกไทยอาจเป็นเรื่องยากมากขึ้น สินค้าจีนถูกเร่งระบาย สงครามหั่นราคาฉุดผู้ประกอบการไทยหนักหน่วง และอาจลามไปถึงการลงทุนของสหรัฐฯ ในไทยที่ลดลง

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับเข้ามาสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯเป็นสมัยที่ 2 ด้วยแคมเปญหาเสียงที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศจีน

โดยอัตราการเก็บภาษีทั่วโลกของสหรัฐฯ ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4% หากว่าทรัมป์เดินหน้าเอาจริงก็อาจทยอยปรับขึ้นเป็น 20% ในอนาคต ในขณะที่การเรียบเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศจีนของสหรัฐฯ ในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10% ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยของสินค้าคละกัน เช่น บางรายการเสียภาษี 60% และในบางรายการอาจเสียแค่ 20% แล้วแต่ล็อตและประเภทของสินค้า

ด้วยนโยบายการพุ่งเป้าขึ้นภาษีสินค้าจีนของทรัมป์ มองว่าอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในหลายอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่จีนไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้ สิ่งที่จะตามมา คือ อัตราความต้องการบริโภคของสหรัฐฯ จะลดลง เนื่องจากสินค้านำเข้ามีราคาที่สูงขึ้น

ส่งผลให้จีนจะเริ่มมีการปรับลดราคาสินค้าลง เพื่อเป็นการเร่งระบายสต๊อกสินค้าคงค้าง ซึ่งจะนำไปสู่การต่อสู่ของสงครามราคา (Price war) ซึ่งข้อได้เปรียบของจีน คือ มีกำลังการผลิตมหาศาล ทำให้ต้นทุนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับตลาดในประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย และสินค้าจีนจะถูกหันเหออกมากระจายในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะเอเชียเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งการไหลทะลักของสินค้าจีนเข้ามายังประเทศไทย แน่นอนว่าผู้ประกอบการไทยอาจแข่งขันสู่ในเรื่องของราคาไม่ได้ สิ่งที่อยากเสนอแนะกับภาครัฐฯ คือ การไม่พลีพลามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพราะจะทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และการวางมาตรการชดเชยให้กับผู้ประกอบการไทย เช่น การลดภาษีให้กับผู้ประกอบการที่มากกว่านี้

"สิ่งที่อยากเสนอแนะตอนนี้ คือ ภาครัฐฯ ควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในสินค้าที่มีศักยภาพ ตลอดจนการวางมาตรการกำแพงภาษีสินค้าจีนอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันก็ควรที่จะเดินเกมรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่ดี ให้เขาเมตตาเรามากขึ้น อาจลดหย่อนความรุนแรงของการขึ้นภาษีสินค้าของไทยได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าไทยเราส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 18%"

นอกจากนี้ มองว่าปัญหาจีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ไม่ได้ อีกหนึ่งสิ่งที่จะมีผลกระทบต่อไทยแน่นอน คือ การนำเข้าสินค้าไทยก็จะลดลงตามไปด้วย ประกอบกับด้วยค่าเงินหยวนมีความสัมพันธ์ต่อค่าเงินบาท ทำให้มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนตัวลงไปมากกว่านี้อีกในอนาคต นั้นจะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย

และจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงก็เป็นผลต่อเงินทุนต่างประเทศจะไหลออกด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ GDP ไทยอาจ -0.5% ในปี 2568 หรืออย่างดีหน่อยก็อาจอยู่ที่ประมาณ -0.2 ถึง -0.3% แต่หากว่าการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเต็มรูปแบบ ก็อาจจะฉุด GDP ลงไปถึง -5% ถึง -6%

ในแง่ของการลงทุนสหรัฐฯต่อไทยนั้น มองว่าก็มีความเป็นไปได้ที่อาจเห็นการโยกย้ายฐานการผลิตบางส่วนกลับไปยังสหรัฐฯ แม้ไทยอาจดีใจกับการย้ายฐานผลิตของจีนมาลงทุนยังไทย แต่ฐานผลิตแบบศูนย์เหรียญของจีน จะตอบโจทย์ไทยได้หรือไม่ การมาแบบไม่อุดหนุนสินค้าไทยจะเป็นผลดีต่อประเทศจริงหรือ และไทยยังมีความเสี่ยงต่อเม็ดเงินการลงทุนของสหรัฐฯที่ชะลอตัวลงอีกด้วย

"ต้องยอมรับภาพจำของ ทรัมป์ ต่อทุกคนคือเรื่องของการขึ้นกำแพงภาษี ดังนั้นจึงมีเรื่องให้กังวลกันว่าการกลับมาในครั้งนี้จะเอาจริงในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งขึ้นภาษีสินค้าจีนไปถึง 60% ผลกระทบมาถึงไทยด้วยแน่นอน ทั้งในเรื่องของการส่งออกสินค้าที่ยากขึ้น การไหลทะลักของสินค้าจีนในราคาถูกเข้ามายังไทย ผู้ประกอบการในประเทศจะลำบากมากขึ้น การแข่งขันทางราคาที่อาจรุนแรงมากยิ่งขึ้น"

2 นโยบาย ทรัมป์ประทบตลาดทุน

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เผยมุมมองต่อการกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า การกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกสมัยของ ทรัมป์ ด้วยนโยบายหาเสียงของที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐ, ลดภาษี และเพิ่มอัตราภาษีจากสินค้าจีน ผลการเลือกตั้งจึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวิ่งแรง แต่ฉุดให้สกุลเงินเอเชียและเงินบาทอ่อนค่าลง

โดยตลาดกำลังติดตามนโยบายที่ว่าที่ประธานาธิบดี ทรัมป์ จะดำเนินการต่อไปอย่างไร ทางฝ่ายมองว่ามี 2 นโยบาย ที่จะส่งผลกระทบมากที่สุด ไดแก่ 1) แผนลดภาษีนิติบุคคลสหรัฐ จากปัจจุบันที่ 21% เหลือ 15% และ 2) แผนขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 20% เป็น 60%

ซึ่งตามการคำนวณของทางฝ่าย การลดอัตราภาษีนิติบุคคลดังกล่าวน่าจะทำให้กำไรของบริษัทใน S&P500 เพิ่มขึ้นจากกรณีฐานอีก 8% ถือเป็นปัจจัยบวกสำหรับตลาดหุ้นสหรัฐ ส่วนในกรณีของแผนขึ้นภาษีสินค้าจีน เป็นประเด็นที่มีความยุ่งยากมากกว่า และนักลงทุนควรติดตามว่า ทรัมป์ จะเอาจริงในเรื่องนี้เหมือนที่หาเสียงเอาไว้หรือไม่

ทั้งนี้ การลดภาษีต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา Congress แต่การปรับอัตราภาษีสินค้านำเข้าอยู่ในอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐ ความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้านำเข้าที่แพงขึ้น และความเสี่ยงที่การขาดดุลงบประมาณจะพุ่งสูงขึ้นอาจจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์ฯ ขยับขึ้นในระยะสั้น ในปัจจุบัน ราคา Fed Fund Futures สะท้อนความคาดหวังว่า Fed จะลดดอกเบี้ยลงเหลือ 4.50% ในปลายปี 2567 และ Fed อาจจะลดดอกเบี้ยลงเพียง 50bps ในปี 2568 และ จบวัฏจักรดอกเบี้ยรอบนี้ที่ 4.00%

พร้อมกันนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของทางฝ่ายยังคงมุมมองในกรณีฐานว่าสหรัฐจะลดดอกเบี้ยลง 100bps ในปี 2568 เนื่องจากสหรัฐน่าจะเข้าสู่ช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวตามวัฏจักร (soft-landing) ในปีหน้า สำหรับมุมมองต่อแนวโน้มค่าเงินบาท ทางฝ่ายมองว่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น จากประเด็นที่ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง แต่ยังคงมองว่า ดอลลาร์/บาท จะยังเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 32.50 บาทในปี 2568

อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดหายตื่นเต้นกับผลการเลือกตั้งสหรัฐแล้ว ตลาดน่าจะกลับมาให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐ ซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงและยังต้องลดดอกเบี้ยลงอีก