ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 13ธ.ค. “แข็งค่าเล็กน้อย” ที่ระดับ 33.82 บาทต่อดอลลาร์

12 ธ.ค. 2567 | 00:57 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2567 | 02:10 น.

ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามแนวโน้มเงินหยวนอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องชัดเจน จนกว่าจะรับรู้ปัจจัยใหม่ จับตาเงินยูโรอาจส่งต่อเงินดอลลาร์ ทิศทางเงินเยนและราคาทองคำ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 13ธ.ค. 2567 ที่ระดับ  33.82 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ  33.88 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways 

หลังผู้เล่นในตลาดคาดหวังแนวโน้มการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมอย่างเต็มที่แล้ว (Fully Priced-In) ทำให้ ต้องรอจับตาปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินดอลลาร์ ผ่านบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR)

โดยเรามองว่า หาก ECB เดินหน้าลดดอกเบี้ยตามคาด ทว่า ECB รวมถึงประธาน ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า ECB จะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้พอสมควร หรือ แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน

อาจทำให้เงินยูโร (EUR) สามารถรีบาวด์แข็งค่าขึ้นจากโซนแนวรับ 1.05 ดอลลาร์ต่อยูโร ได้บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างมีมุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนและคาดหวังว่าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องของ ECB พอสมควรในปีหน้า

อย่างไรก็ดี หาก ECB ลดดอกเบี้ยตามคาด และส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่รออยู่ในปีหน้า ก็อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงเล็กน้อย

หรืออาจเพียงแค่แกว่งตัว Sideways ทำให้โดยรวมเรามีมุมมองในเชิง Slightly Bullish Bias ต่อแนวโน้มเงินยูโร หลังรับรู้ผลการประชุม ECB คืนนี้ ช่วงตั้งแต่ 20.15 น. เป็นต้นไป ตามเวลาประเทศไทย

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากแนวโน้มเงินยูโรที่อาจส่งผลกระทบต่อเงินดอลลาร์ได้นั้น เรามองว่า ควรจับตาทิศทางเงินเยนญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน หลังในช่วงที่ผ่านมาเงินเยนญี่ปุ่นได้ทยอยอ่อนค่าลง

ตามมุมมองผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ไปก่อน ขณะเดียวกัน เงินบาทก็อาจเคลื่อนไหวไปตามแนวโน้มเงินหยวนจีน (CNY) และทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง ทองคำ ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เราประเมินว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้อย่างชัดเจน จนกว่าจะรับรู้ปัจจัยใหม่ ทำให้โซนแนวต้านของเงินบาทก็ยังอยู่ในช่วง 33.60-33.70 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้านยังคงมีโซนที่สำคัญแถว 33.90-34.00 บาทต่อดอลลาร์ 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.95 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ได้ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 33.80-33.94 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทยังคงได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าตามการทยอยปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) เกิน +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เข้าใกล้โซน 2,720 ดอลลาร์ต่อออนซ์

โดยราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากความหวังว่า เฟดอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้ในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้ ตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายน ที่ออกมา +0.3% จากเดือนก่อนหน้า (ทั้งในส่วนของ Headline CPI และ Core CPI) ตามที่ตลาดประเมินไว้

อย่างไรก็ดี แรงหนุนเงินบาทจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ก็ถูกชะลอลงบ้าง โดย แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง หลังรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทว่าเงินดอลลาร์ก็สามารถทยอยรีบาวด์ขึ้นได้ ก่อนที่จะแกว่งตัว Sideways ใกล้ระดับก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI

หนุนโดยการทยอยปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ รวมถึงความกังวลต่อแนวโน้มการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ และปริมาณการออกบอนด์ของสหรัฐฯ ในช่วงระยะสั้น

นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยอ่อนค่าลงและแกว่งตัวเหนือโซน 152 เยนต่อดอลลาร์ หนุนการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมา

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Tesla +5.9%, Alphabet +5.5% ท่ามกลางความหวังว่า เฟดจะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้ในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.77% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.82%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.28% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นบ้างของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ตามความหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้

ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ECB จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป ถูกกดดันบ้าง จากการปรับตัวลงของหุ้น Inditex -6.5% (เจ้าของแบรนด์ Zara) หลังบริษัทรายงานผลประกอบการที่น่าผิดหวัง

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้น สู่ระดับ 4.27% แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะเชื่อว่า เฟดอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้ ตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ออกมาตามคาด ทว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็สามารถทยอยปรับตัวขึ้นบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด

รวมถึงความกังวลต่อแนวโน้มการขาดดุลงบประมาณ (Budget Deficit) และปริมาณการออกบอนด์ในช่วงระยะสั้นของรัฐบาลสหรัฐฯ แม้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่า

เป็นการเคลื่อนไหวที่เข้าทางกลยุทธ์ Buy on Dip บอนด์ระยะยาวของเรา เนื่องจากเราคงประเมินว่า Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ของบอนด์ระยะยาวนั้นยังมีความน่าสนใจอยู่

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แม้จะอ่อนค่าลงบ้างหลังตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ แต่เงินดอลลาร์ก็ได้แรงหนุนจากการทยอยปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงและแกว่งตัวเหนือโซน 152 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 106.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.3-106.8 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาตามคาด ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,750-2,760 ดอลลาร์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเราประเมินว่า แนวโน้มการชะลอลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของยูโรโซนจะหนุนให้ ECB เดินหน้าลดดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) ลง 25bps สู่ระดับ 3.00% (บรรดานักวิเคราะห์ก็ต่างคาดการณ์ไว้เช่นเดียวกัน)

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรรอติดตามถ้อยแถลงของประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ในระยะข้างหน้า โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า ECB อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องและอาจลดดอกเบี้ยราว 5 ครั้ง ได้ในปี 2025

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนพฤศจิกายน เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ที่จะช่วยสะท้อนภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.88-33.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.06 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.89 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ทั้งนี้ แม้เงินบาทแกว่งตัวเป็นกรอบ แต่ก็ทยอยอ่อนค่าลงมาบางส่วนตามการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาตามที่ตลาดคาด โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 2.7% YoY ในเดือนพ.ย. (ตลาดคาด 2.7% YoY) เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนต.ค.

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.70-33.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สกุลเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก ผลการประชุม ECB รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ย.