ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้17ธ.ค.2567 ที่ระดับ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways ไปก่อนในช่วง 34.00-34.20 บาทต่อดอลลาร์ เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อย่าง ผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลาง โดยเฉพาะ ผลการประชุม FOMC ของเฟดในวันพฤหัสฯ
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม นอกจากนี้ หากเงินหยวนจีน (CNY) ยังคงทยอยอ่อนค่าลงต่อ
หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด ก็อาจกดดันบรรดาสกุลเงินเอเชียเพิ่มเติมได้ ทว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นจากโซนแนวรับระยะสั้น
อนึ่ง เราขอแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเตรียมรับมือความผันผวนในตลาด ที่อาจสูงขึ้นในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดค้าปลีก ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.20 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 34.03-34.12 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันบ้าง ตามการทยอยปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่พลิกกลับมาย่อตัวลงสู่โซน 2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ทว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ออกมาผสมผสาน โดยมีเพียงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย S&P Global (Services PMI) ในเดือนธันวาคม ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.5 จุด ดีกว่าที่ตลาดประเมินไว้
ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนธันวาคม กลับปรับตัวลดลงสู่ระดับ 48.3 จุด แย่กว่าคาด เช่นเดียวกันกับดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขานิวยอร์ก (NY Empire Manufacturing) ก็ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 0.2 จุด แย่กว่าคาดไปมาก สะท้อนภาวะหดตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตสหรัฐฯ
แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาผสมผสาน ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor อาทิ Broadcom +11.2%, Alphabet +3.6%
รวมถึงการปรับตัวขึ้นของ Tesla +6.1% ที่ได้อานิสงส์จากการปรับเป้าราคาหุ้นจากบรรดานักวิเคราะห์ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันบ้างจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่ม Healthcare ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.24% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.38%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.12% กดดันโดยแรงขายหุ้นฝรั่งเศส หลัง Moody’s หั่นเครดิตเรทติ้งของฝรั่งเศสลงจาก Aa2 เป็น Aa3 นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนรายเดือนล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด
โดยเฉพาะยอดค้าปลีก ก็ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นกลุ่มยานยนต์และกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมยุโรปออกมา อาทิ Ferrari -2.6%, LVMH -1.2%
ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาผสมผสาน ทว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็สามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้น สู่ระดับ 4.40% ท่ามกลาง มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงเชื่อว่า เฟดจะชะลอการลดดอกเบี้ยในปี 2025 โดยเฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง หรือ 50bps หลังเฟดอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 4.25%-4.50% ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้
ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อไปมาก หากคาดการณ์ของเราต่อ Dot Plot ใหม่ของเฟด ที่คงมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดประเมินอยู่บ้าง (เช่น เฟดอาจลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2025 และ
อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มอีก 2-3 ครั้ง ใน ปี 2026 จบรอบการลดดอกเบี้ย) นั้นถูกต้อง ทำให้เราขอเน้นย้ำว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงนี้ ก็ถือว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่เข้าทางกลยุทธ์ Buy on Dip บอนด์ระยะยาวของเรา เนื่องจากเราคงประเมินว่า Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ของบอนด์ระยะยาวนั้นยังมีความน่าสนใจอยู่
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาผสมผสาน ทว่าเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นที่กว้างขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่โซน 106.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.7-107.2 จุด)
ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงแรงขายทำกำไรทองคำของผู้เล่นในตลาด ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ปรับตัวลดลง สู่โซน 2,660-2,670 ดอลลาร์
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ โดยเฉพาะในส่วนอัตราการเติบโตของค่าจ้าง
ส่วนในฝั่งยูโรโซน ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนธันวาคม
และในฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤศจิกายน รวมถึงคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจโดยเฟดสาขา Atlanta (GDPNow) สำหรับไตรมาสที่ 4 ซึ่งจะรับรู้ในช่วง 01.00 น. ตามเวลาประเทศไทยของเช้าวันพุธที่ 18 ธันวาคม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.04-34.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.00 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ... เงินบาทแกว่งตัวเป็นกรอบ
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุน (หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งรายงานเมื่อคืนที่ผ่านมามีทิศทางที่ปะปน) เนื่องจากตลาดรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงิน ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจ และ dot plot ของเฟดในช่วงกลางสัปดาห์ เพื่อหาสัญญาณในการประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.95-34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ตลาดรอติดตามสัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางเงินหยวน ยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ รวมถึงผลการประชุมเฟดและ กนง. ในช่วงกลางสัปดาห์