ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 20 ธ.ค.2567ที่ระดับ 34.59 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.51 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีกำลังอยู่ในช่วงนี้
ท่ามกลางปัจจัยหนุนอย่าง การทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้อานิสงส์จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด นอกจากนี้ มุมมองดังกล่าวยังคงกดดันไม่ให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์สูงขึ้นต่อเนื่องได้
อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยชะลอการอ่อนค่าลง และแกว่งตัว Sideways หลังเราเริ่มเห็นสัญญาณและโอกาสย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ ตามสัญญาณเชิงเทคนิคัล
อย่าง RSI & MACD forest Bearish Divergence และโอกาสที่จะเกิด Double Tops pattern หากดัชนีเงินดอลลาร์ไม่สามารถทรงตัวเหนือระดับ 108 จุด ได้ในสัปดาห์นี้ ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้
อย่างอัตราเงินเฟ้อ PCE และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน นอกจากนี้ เรามองว่า เงินเยนญี่ปุ่น (USDJPY) ก็มีลักษณะดังกล่าวในเชิงเทคนิคัลเช่นกัน ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นการกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินเยนญี่ปุ่นได้
นอกเหนือปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้าง โดยเฉพาะในส่วนหุ้นไทย หลังตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงมาพอสมควรเข้าสู่โซนแนวรับ อีกทั้งสัญญาณ Market Breadth ก็สะท้อนโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง เช่นเดียวกันในฝั่งตลาดบอนด์ เราเชื่อว่าบรรดานักลงทุนต่างชาติอาจรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นบ้างในการทยอยเข้าซื้อ
อนึ่ง ควรจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการเคลื่อนไหวของราคาทองคำก็อาจเป็นปัจจัยที่จะเร่งการอ่อนค่าของเงินบาท หรือช่วยหนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้
โดยเรามีมุมมองว่า ราคาทองคำมีโอกาสรีบาวด์ขึ้นบ้าง จากโซนแนวรับระยะสั้น ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง แต่คงยากที่จะเห็นการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ
เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยขายทำกำไรสถานะ Long หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้ดี ไม่ว่าจะเทียบกับสกุลเงินใดก็ตามในปีนี้
ทั้งนี้ เราขอแนะนำว่าควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยหากอัตราเงินเฟ้อ PCE ชะลอตัวลงบ้าง
หรือออกมาตามที่ตลาดคาด ก็อาจช่วยชะลอการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทว่าต้องรอติดตามอย่างใกล้ชิดว่า อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะยาวจะออกมาในลักษณะใด
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.75 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลง (กรอบการเคลื่อนไหว 34.47-34.63 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ
โดยรวมออกมาดีกว่าคาด โดย อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 สูงถึง +3.1 Q/Q Annualized ส่วน ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ก็ปรับตัวลดลงจากรายงานครั้งก่อน
สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใสอยู่ ขณะที่ ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรม โดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียในเดือนธันวาคม กลับปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน
โดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังกล่าวยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว 37bps ในปีหน้า หรืออาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 2 ครั้ง อย่างที่เฟดได้ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของบรรดาสกุลเงินหลัก ทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) แม้ว่า BOE จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 4.75% แต่ก็มีคณะกรรมการ 3 ท่านเห็นควรให้ลดดอกเบี้ยลงในครั้งนี้
ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า BOE อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยในปีหน้าได้ราว 52bps หรือราว 2 ครั้ง และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำซึ่งถูกกดดันจากการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมจะออกมาดีกว่าคาด แต่ภาพดังกล่าวก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดคงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 2 ครั้งในปีหน้า
ทำให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ และหุ้นสไตล์ Growth ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ชัดเจน โดยบางส่วนอาจรีบาวด์ขึ้นบ้าง เช่น Nvidia +1.4% ขณะที่ Tesla -0.9% ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.09%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาดิ่งลง -1.51% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มการชะลอลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวต่างปรับตัวสูงขึ้น กดดันบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML -3.7%, LVMH -1.4%
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.55%
อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ (ที่ดูจะเป็นการ Overreact ไปบ้างในมุมมองของเรา) ยังคงทำให้ Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ของบอนด์ระยะยาวนั้นยังมีความน่าสนใจอยู่ และเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถดำเนินกลยุทธ์ Buy on Dip บอนด์ระยะยาวของเราได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังย่อตัวลงบ้างในช่วงบ่ายวันก่อน หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงการอ่อนค่าของต่อเนื่องของบรรดาสกุลเงินหลัก ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าบรรดาธนาคารกลางหลัก อย่าง BOE และ ECB
ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงต่อเนื่องตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี ของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นที่กว้างมากขึ้น อีกทั้ง BOJ ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพร้อมจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย อย่างที่ตลาดคาดหวัง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 108.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 107.8-108.5 จุด) ทำจุดสูงสุดใหม่ในปีนี้
ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) พลิกกลับมาปรับตัวลง สู่โซน 2,600-2,610 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง แม้ว่าในช่วงวันก่อนหน้า ราคาทองคำจะสามารถรีบาวด์ขึ้นบ้าง จากแรงขายหนักหลังตลาดรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมถึงรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนธันวาคม ที่จะรับรู้ในช่วงราว 22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย
โดยนอกเหนือจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามว่า อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะยาว (Inflation Expectations) ในรายงานเดียวกันนั้นจะออกมาอย่างไรบ้าง ซึ่งทั้งรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE
รวมถึงอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดได้ หลังล่าสุดเฟดได้แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ มากขึ้น
และในฝั่งอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ และเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยในการประเมินทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.56-34.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.52 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.54 บาทต่อดอลลาร์ฯทั้งนี้เงินบาทอ่อนค่าลงต่อตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก
สวนทางกับค่าเงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ยังคงได้รับอานิสงส์จากสัญญาณชะลอแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในปีหน้า
ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาดเมื่อคืนที่ผ่านมา อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ปรับลดลง และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ที่ถูกปรับทบทวนขึ้นในรายงานรอบสุดท้าย
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 34.50-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ ปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ทิศทางฟันด์โฟลว์ของเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์เงินหยวน การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE/Core PCE เดือนพ.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.