ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 23 ธ.ค. “แข็งค่า” ที่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์

23 ธ.ค. 2567 | 01:18 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2567 | 03:08 น.

ค่าเงินบาทมีฮอกาสทยอยแข็งค่าบ้าง หากเงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ การเคลื่อนไหวของสกุลเงินเยนและราคาทองคำควรระวังความผันผวนในช่วงปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง ในสัปดาห์สุดท้ายของปี

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 23  ธ.ค. 2567 ที่ระดับ  34.29 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  34.44 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่านับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 34.17-34.47 บาทต่อดอลลาร์)

หนุนโดยการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ที่ระดับ 2.4% และ 2.8% ตามลำดับ

 นอกจากนี้ ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนธันวาคม รวมถึงอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะยาวจากรายงานเดียวกันนั้น ก็ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดังกล่าว ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นราว +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซน 2,620-2,630 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเช่นกัน

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ท่ามกลางแรงกดดันจากทั้งการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลงหนักของราคาทองคำ หลังเฟดส่งสัญญาณชะลอการลดดอกเบี้ยชัดเจน

ทว่า เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อบอนด์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ แรงขายเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้เล่นในตลาด รวมถึงการพลิกกลับมาย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ในช่วงปลายสัปดาห์

 

สำหรับสัปดาห์นี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง ในสัปดาห์สุดท้ายของปี อนึ่ง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มากนัก

ทว่าธีมหลักของตลาดยังคงเป็นการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทำให้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก

เช่น รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของอังกฤษ รวมถึง ข้อมูลตลาดแรงงานและยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของญี่ปุ่น ยังมีความน่าสนใจอยู่ ส่วนฝั่งไทย ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่รายงานยอดการส่งออกและนำเข้า

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

ฝั่งสหรัฐฯ – สัปดาห์นี้อาจมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจไม่มากนัก ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims)

พร้อมทั้งรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (Consumer Confidence) ว่าจะมีความแตกต่างจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) หรือไม่

หลังล่าสุด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ในเดือนธันวาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 74.0 จุด ทว่าก็น้อยกว่าที่ตลาดคาดหวังไว้เล็กน้อย

▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสที่ 3 เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)

▪ฝั่งเอเชีย – ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจของญี่ปุ่น อาทิ ข้อมูลตลาดแรงงาน ยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึงยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะใช้ประกอบการการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

▪ ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports & Imports) เดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะในส่วนของดุลการค้า (Trade Balance)

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง โดยเฉพาะหากเงินดอลลาร์ สามารถทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

ในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะทยอยประกาศออกมานั้น ไม่ได้ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจมีการทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ตามธีม US Exceptionalism ออกมาบ้าง (ในปีนี้ เงินดอลลาร์ก็แข็งค่าขึ้นกว่า +6%)

นอกจากนี้ เรามองว่า ราคาทองคำมีโอกาสรีบาวด์ขึ้นต่อได้บ้าง แต่อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอจังหวะทยอยขายทำกำไรสถานะ Long ทองคำ ที่ทำผลตอบแทนได้โดดเด่นในปีนี้

ส่วน ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เราคาดว่า อาจเริ่มเห็นการทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้าง หรือ อย่างน้อยแรงขายสินทรัพย์ไทยก็ควรจะลดลงจากช่วงสัปดาห์ก่อนๆ พอสมควร ลดแรงกดดันต่อเงินบาทได้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ทิศทางเงินดอลลาร์มีแนวโน้มย่อตัวลงได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวใน Sideways โดยต้องจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

รวมถึงจับตาการเคลื่อนไหวของบรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เนื่องจากในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ จะมีการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ข้อมูลตลาดแรงงาน และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เป็นต้น

ซึ่งหากข้อมูลดังกล่าวยังคงสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ก็อาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินเยนญี่ปุ่นได้บ้าง

นอกจากนี้ ในเชิงเทคนิคัล เงินเยนญี่ปุ่น (USDJPY) ก็มีโอกาสย่อตัวลงบ้าง หรืออย่างน้อยแกว่งตัว Sideways เช่นเดียวกับฝั่งดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY)

เรามองว่า ในเชิงเทคนิคัล ดัชนีเงินดอลลาร์ก็มีโอกาสย่อตัวลงบ้าง ตามสัญญาณ Bearish Divergence บน RSI, MACD Forest ใน Time Frame รายวัน รวมถึงโอกาสเกิดทั้ง Double Tops และ Bearish Engulfing ในกราฟแท่งเทียนรายวัน

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.00-34.50 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.40 บาท/ดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.25-34.27 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.18 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 34.47 บาทต่อดอลลาร์ฯ

โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE และ Core PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนพ.ย. ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด (Headline PCE inflation +2.4% YoY ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 2.5% YoY ขณะที่ Core PCE Inflation +2.8% YoY ในเดือนพ.ย. ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ +2.9% YoY)  

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ระดับ 34.15-34.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางเงินหยวนและราคาทองคำในตลาดโลก กระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในปีหน้า รวมถึงตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.