thansettakij
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 29ม.ค. “แข็งค่าขึ้น”ที่ระดับ  33.82 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 29ม.ค. “แข็งค่าขึ้น”ที่ระดับ 33.82 บาทต่อดอลลาร์

29 ม.ค. 2568 | 01:10 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ม.ค. 2568 | 03:31 น.

ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.55-33.95 บาท/ดอลลาร์ ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ผลการประชุม FOMC ของเฟดคาดยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.25%-4.50%รอความชัดเจนของนโยบายTrump 2.0

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 29ม.ค.2568 ที่ระดับ  33.82 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ  33.88 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อนได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟด ที่จะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ นี้

อีกทั้ง วันนี้ยังเป็นวันหยุดเทศกาลตรุษจีนของหลายตลาดในฝั่งเอเชีย ทำให้ปริมาณการทำธุรกรรมในตลาดการเงินอาจเบาบางลงได้บ้าง ทั้งนี้ เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้น

หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เมื่อประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจน เหนือโซนแนวต้าน 34.20 บาทต่อดอลลาร์

อนึ่งในช่วงระหว่างวันนี้ เรามองว่า บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินก็อาจพอช่วยหนุนเงินบาทได้บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม เหมือนในวันก่อนหน้า

นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทก็อาจได้รับอานิสงส์เพิ่มเติม หากราคาทองคำยังสามารถทยอยปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านก่อนหน้าได้บ้าง ทว่าต้องระวังความผันผวนของราคาทองคำ ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทได้พอสมควร โดยเฉพาะในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด

อนึ่ง เรามองว่า เงินบาทอาจยังไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องชัดเจน เนื่องจากในช่วงนี้ เรายังคงเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าอยู่ รวมถึงอาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบจากผู้เล่นในตลาดอยู่บ้าง หลังราคาน้ำมันดิบได้ทยอยปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เงินบาทอาจพอมีแนวรับแถวโซน 33.60-33.70 บาทต่อดอลลาร์ ได้

ทั้งนี้ เราขอย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ชี้ว่า เงินบาท (USDTHB) อาจแกว่งตัวกว่า +/-0.30%

โดยเฉลี่ย ภายในช่วง 30 นาที หลังทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟดได้ นอกจากนี้ ในช่วง 2.30 น. ซึ่งจะเป็นช่วง Press Conference ของประธานเฟด Jerome Powell ก็จะเป็นอีกช่วงหนึ่งที่ตลาดการเงินมักจะผันผวนไปตามถ้อยแถลงของประธานเฟด

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.55-33.95 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟดและช่วง Press Conference ของประธานเฟด)

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้างในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.81-33.95 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการรีบาวด์สูงขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวลดลงบ้าง

โดยในส่วนของเงินดอลลาร์ก็ถูกกดดันบ้าง จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ออกมาแย่กว่าคาด อาทิ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) เดือนธันวาคม หดตัว -2.2% จากเดือนก่อนหน้า

อีกทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board ในเดือนมกราคม ก็ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 104.1 จุด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังคงไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องชัดเจน หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุมเฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสฯ นี้

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความกังวลประเด็น AI จากจีน “DeepSeek-R1” และกลับเข้าซื้อหุ้นเทคฯ ใหญ่ ที่ปรับตัวลงแรงก่อนหน้า โดยเฉพาะ Nvidia +8.9% ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +2.03% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.92%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.36% หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลประเด็น AI จากจีนลงบ้าง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มค้าปลีก อาทิ Inditex (เจ้าของแบรนด์ Zara) +3.1% รวมถึงความหวังต่อแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.53% หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะหลังนี้ ทยอยออกมาผสมผสาน (แย่กว่าคาดเป็นส่วนใหญ่)

ทำให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจสามารถลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง ในปีนี้ ตามที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด (นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังมองอีกว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 1 ครั้ง หรือ 25bps ในปี 2026)

อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนสูง ขึ้นกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งต้องติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

และการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 20 อย่างใกล้ชิด ทำให้เราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดก็สามารถทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นได้ (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคาซื้อ เพื่อ Risk-Reward ที่น่าสนใจ)

 ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways โดยมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด

ทว่าผู้เล่นในตลาดยังคงไม่รีบปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ที่ชัดเจน เพื่อรอลุ้นผลการประชุมเฟดและECB ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 107.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 107.8-108.1 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงความต้องการถือทองคำเพื่อรับมือกับ Trump’s Uncertainty ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย. 2025)

ทยอยปรับตัวขึ้น สู่โซน 2,790-2,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุม FOMC ของเฟด ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วง 2.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาประเทศไทย โดยเรามองว่า ในการประชุมครั้งนี้ เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.25%-4.50% เพื่อรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ

รวมถึงรอความชัดเจนของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อได้ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า เฟดมีโอกาสที่จะกลับมาลดดอกเบี้ยต่อในการประชุม FOMC เดือนมีนาคม

หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องชัดเจน ส่วนนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็อาจไม่ได้รุนแรงอย่างที่ตลาดกังวล

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Apple ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  เงินบาทแข็งค่ากลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.76-33.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (10.19 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.91 บาทต่อดอลลาร์ฯ

โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้น ขณะที่ แรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วนเนื่องจากตลาดยังรอติดตามผลการประชุมเฟดในคืนนี้ ประกอบกับมีปัจจัยลบจากการปรับตัวลงของบอน์ยีลด์สหรัฐฯ หลังข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือนม.ค. ออกมาแย่กว่าคาด และลดลงเมื่อเทียบกับระดับความเชื่อมั่นในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกด้วยเช่นกัน 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้  ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.70-33.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทิศทางฟันด์โฟลว์และค่าเงินเอเชีย และสัญญาณดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากผลการประชุมเฟด (28-29 ม.ค.)