ค่าเงินบาทปิดตลาดวันที่ 4เม.ย.ที่ระดับ 34.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่ากลับมาเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าทั้งนี้ ผลของการปรับขึ้น Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ ยังสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ฯ จนถึงช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน
สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่กลับมาเผชิญแรงขายอย่างหนักท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการปรับขึ้นภาษีการค้าของ ปธน. ทรัมป์ และการคาดการณ์เรื่องการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งตลาดเริ่มให้น้ำหนักว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยมากกว่าที่สื่อสารไว้ใน dot plot เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงมากขึ้นที่อาจเผชิญกับภาวะถดถอย
นอกจากนี้ เงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น (และมีรางานข่าวว่าจีนประกาศขึ้นภาษีโต้กลับสหรัฐฯ มีผล 10 เม.ย.) ก็เป็นปัจจัยที่หนุนสกุลเงินในภูมิภาคและเงินบาทด้วยเช่นกัน สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์ในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 6,399 ล้านบาท แต่ซื้อสุทธิพันธบัตรไทยต่อเนื่องที่ 1,580 ล้านบาท
ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 4 เมษายน 2568 จากเว็บไซต์ ธปท. อยู่ที่ -23.39 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ -20.37 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า)
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.60-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ของสงครามการค้า (หลังจีนประกาศเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าที่มาจากสหรัฐฯ มีผล 10 เม.ย.) ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก และสัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. รายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 18-19 มี.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน