เบื้องหลังจีนพลิกเกม เปลี่ยน "สงครามการค้า" สู่ "สงครามการเงิน" ทำสหรัฐฯ จุก!

12 เม.ย. 2568 | 06:42 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2568 | 06:45 น.

ดร.วิศิษฐ์ ECO TNITY เปิดเบื้องหลัง "สงครามการค้า" แปรเป็น "สงครามการเงิน" จีน-ญี่ปุ่น แห่เทขายพันธบัตรสหรัฐฯ ดันบอนด์ยีลด์พุ่ง 4.4% ความเชื่อมั่นดอลลาร์สั่นคลอน ชี้ สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจถดถอยมาแล้ว! ขณะทองคำทะยานแตะ 3,176 ดอลลาร์ เพราะนักลงทุนแห่หาที่พักเงิน

จากกรณีที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเกือบ 90 ประเทศชั่วคราว หลังสหรัฐ กำหนดอัตราภาษีตอบโต้ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อเปิดทางให้เจรจาการค้ากับประเทศเหล่านี้ได้ ในขณะเดียวกันทรัมป์จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% จากเดิม 84% โดยจะมีผลบังคับใช้ทันที เนื่องจากมองว่าจีนไม่เคารพตลาดโลก

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท ทรีนีตี้วัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ TNITY ได้ให้มุมมองกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การที่ประเทศสหรัฐฯ ออกมาตรการภาษีตอบโต (reciprocal tariffs) กับหลายประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ถูกปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าครั้งนี้

ส่งผลให้สถานการณ์สงครามการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น จนแปลเปลี่ยนเป็นสงครามการเงิน เพราะความกดดันดังกล่าวทำให้เหล่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งญี่ปุ่นและจีนกระหน่ำเทขายพันธบัตรออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทบค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในปัจจุบัน ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จากการ "ขาดดุลสามด้าน" ได้แก่ ขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ แตะระดับ 6.98% ของ GDP ในไตรมาส 1/2568, ขาดดุลการค้าอยู่ที่ 3.09% ของ GDP และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อยู่ที่ 3.81% ของ GDP ทำให้สหรัฐฯ รีไฟแนนซ์ ด้วยการออกพันธบัตรใหม่ มูลค่ากว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ยังคงเป็นผู้ถือครองรายใหญ่ที่สุด โดยมีมูลค่า 4,274.5 พันล้านดอลลาร์ 47.2% ของทั้งหมด ในขณะที่ส่วนที่เหลือพบว่า ญี่ปุ่นเป็นผู้ถือครองต่างชาติรายใหญ่ที่สุด ด้วยมูลค่า 1,079.3 พันล้านดอลลาร์ (11.9%), จีนถือครองพันธบัตรมูลค่า 760.8 พันล้านดอลลาร์ (8.4%)

นอกจากนี้ ยังพบว่าสหราชอาณาจักรถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ มูลค่า 740.2 พันล้านดอลลาร์ (8.2%) และยังมีแนวโน้มถือเพิ่มต่อเนื่อง เพราะมองว่าให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับพันธบัตรยูโร อย่างไรก็ดี "การขาดดุลสามด้าน" เหล่านี้รวมกันแล้วสะท้อนถึงความต้องการเงินทุนจำนวนมากของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งโดยปกติแล้วควรจะผลักดันให้อัตราผลตอบแทนสูงขึ้นมากกว่าลดลง

จะเห็นได้ว่าเมื่อทั้งจีนและญี่ปุ่นทุบขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วที่ 4.4% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีอยู่ที่ 3.82% สะท้อนถึงการสูญเสียความเชื่อมั่นในสหรัฐ ในฐานะเสาหลักของเศรษฐกิจโลก

"เมื่อการถูกข่มขู่ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้า ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศพันธมิตรอย่างเกาหลีและญี่ปุ่น ที่โดนภาษียานยนต์สูงแบบตัดความสัมพันธ์ ประเทศต่างๆ จึงหันไปเล่นงานสงครามการเงินแทน เชื่อว่าจะเร่งให้การเจรจาการค้าโลกเป็นไปได้เร็วขึ้น"

จากนักลงทุนเริ่มเคลื่อนย้ายเงินไปยังสินทรัพย์ปลอดภัยอื่นๆ เช่น พันธบัตรยุโรป และทองคำ จะเห็นได้ว่าราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยจากคาดการณ์ GDP ไตรมาส 1/2568 ของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ -3% แต่หากตัดรายการนำเข้าทองคำออก GDP จะอยู่ที่ราว -1% 

ปัจจัยดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ เก็นทองคำอย่างบ้าคลั่ง เพราะมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย สอดคล้องกันกับนับตั้งแต่ต้นปี 2568 จนถึงปัจจุบัน ที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับ 3,176.23 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สะท้อนความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลก

ภาพถัดมาคือ ความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังเพิ่มขึ้นจากส่วนต่างระหว่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี กับ 3 เดือน ที่ติดลบที่ -0.046442 ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยเศรษฐกิจถดถอย เมื่อส่วนต่างนี้ติดลบ มักจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมาภายใน 12-18 เดือน

ขณะเดียวกันดัชนีค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐฯ ยังชะลอตัวลง โดยข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568 แสดงให้เห็นว่า PCE เพิ่มขึ้นเพียง 2.53% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน Core PCE อยู่ที่ 2.78% ที่ยังสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ 2% สะท้อนถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะชะลอตัวลงจากจุดสูงสุดในช่วงปี 2564-2565 ที่สูงกว่า 6-7%

ความคาดหวังเงินเฟ้อระยะสั้นของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยข้อมูล ณ วันที่ 24 มีนาคม 2568 แสดงให้เห็นว่าค่าเฉลี่ยของจุด (Dots average) ในการประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการ FOMC มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในการประชุมสองครั้งล่าสุด ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น

"การที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็มองว่าเฟดอาจต้องเผชิญกับความอึดอัดใจในการปรับลดดอกเบี้ยลง เพราะบอนด์ยีลด์ที่สูงขึ้นก็จะทำให้เครื่องมือในการลดดอกเบี้ยในมือน้อยลงตามไปด้วย และด้วยสงครามการค้าที่มีแนวโน้มยืดเยื้อทำให้คาดว่าเหล้าประเทศต่างๆ จะยังมีการทยอยขายพันธบัตรสหรัฐออกมาอย่างต่อเนื่อง"

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ งบดุลของธนาคารกลางทั่วโลกมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยสหรัฐฯ และยุโรปมีการหดตัวของงบดุลอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2565 ในขณะที่จีนมีการขยายตัวของงบดุลโดยเฉพาะในช่วงปี 2567-2568 สะท้อนทิศทางนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน

ในขณะที่สหรัฐฯ และยุโรปใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่จีนกลับใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว นโยบายที่แตกต่างกันนี้อาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเงินทุนระหว่างประเทศ

โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย ที่อาจได้รับประโยชน์จากสภาพคล่องส่วนเกินจากจีน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเผชิญแรงกดดันจากการไหลออกของเงินทุนไปยังสหรัฐฯ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า