สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมเดินหน้าประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับปิดกั้นแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเทศที่มีพฤติกรรมการชักชวนหรือโฆษณาการให้บริการ (solicit) กับผู้ลงทุนในประเทศไทย
โดยกระบวนการปิดกั้นทำได้รวดเร็วมากขึ้น หลังจากพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) และพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 (พ.ร.ก. อาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2568
ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ฉบับแก้ไข กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นการให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร ที่ต้องได้รับอนุญาตตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
พร้อมกันนี้ พ.ร.ก. อาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ กำหนดให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) สามารถดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเทศที่มีพฤติกรรมในลักษณะข้างต้น ซึ่งถือว่าเป็นการให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ได้
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กฎหมายกำหนดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล การคัดกรอง และระงับธุรกรรมหรือบัญชีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในลักษณะเดียวกับธนาคารพาณิชย์ รวมถึงอยู่ภายใต้กลไกการคืนเงินแก่ผู้เสียหายซึ่งจะทำให้ผู้เสียหายได้รับเงินคืนรวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet) ที่เกี่ยวข้องอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (blacklist) และห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทำธุรกรรมกับบุคคลที่มีรายชื่อหรือกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. เปิดเผยว่า หลังจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีผลใช้บังคับแล้วจะทำให้การปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีกระบวนการที่กระชับ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับเจ้าของบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ก.ล.ต. สนับสนุนให้ผู้ลงทุนใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาต เนื่องจากได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและ ก.ล.ต. มีการติดตามตรวจสอบใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ลงทุนที่ใช้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศต้องระมัดระวัง เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวง (scam) รวมถึงความเสี่ยงในการเป็นเส้นทางผ่านเงินของผู้กระทำความผิดที่ต้องการฟอกเงิน