ประทานบัตรแร่ค้าง 1.5 พันใบ กพร.ยันติดขั้นตอนทำไม่ถูก

08 ก.ค. 2559 | 14:30 น.
กพร.เผยผู้ประกอบการแห่ขอทำเหมืองแร่เพียบ ยื่นคำขอประทานบัตร 1.5 พันใบ แต่ยังรอการอนุมัติ เหตุต้องตรวจสอบให้รัดกุม ยันไม่ได้พิจารณาล่าช้า ไฟเขียวให้ปีละ 80-90 คำขออยู่แล้ว ชี้กรณีปิดเหมืองทองคำของอัครา ไม่กระทบการทำเหมืองอื่นๆ แต่ต้องดูแลไม่ให้กระทบชุมชน

[caption id="attachment_68774" align="aligncenter" width="700"] มูลค่าการผลิตแร่ที่สำคัญของไทย มูลค่าการผลิตแร่ที่สำคัญของไทย[/caption]

นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงการสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนและผู้ประกอบการเหมืองแร่ว่า จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ และประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมทั้งคำขอต่ออายุประทานบัตรแร่ทองทำทั่วประเทศนั้น ทางกพร.ยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนกับเหมืองแร่ทั่วไป เพราะกพร.ยังอนุมัติใบประทานบัตรการทำเหมืองแร่ได้ตามปกติ โดยในช่วงปีงบประมาณ 2559 ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 -เดือนมิถุนายน 2559 กพร.ได้อนุมัติคำขอประทานบัตรไปแล้ว 25 แปลง คำขอต่ออายุประทานบัตร 27 แปลง คำขอโอนประทานบัตร 5 แปลง คำขออาชญาบัตรพิเศษ 3 แปลง และคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ 28 แปลง รวมเป็น 88 แปลง ส่วนใหญ่เป็นแร่หินอุตสาหกรรม และยิปซัม ก่อให้เกิดมูลค่าแร่ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท เก็บเงินค่าภาคหลวงได้ 3,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทางกพร.ยอมรับว่า ปัจจุบัน ยังมีผู้มาขอประทานบัตรทำเหมืองแร่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังมีคำขอที่ยังค้างการพิจารณาใบอนุญาตอยู่ราว 1,500 คำขอ ที่ยังไม่อนุมัติให้ได้ ส่วนใหญ่เป็นเหมืองหินก่อสร้างกว่า 40% ซึ่งกพร.ได้พยายามเร่งรัดการอนุมัติให้เร็วที่สุด หากเอกสารต่างๆ และดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายถูกต้อง แต่ที่เกิดความล่าช้า จะมาจากขั้นตอนของการขอทำเหมืองไม่ถูกต้อง หรือการร้องเรียน บางพื้นที่เกิดความซ้ำซ้อน ก็ต้องยกเลิก การตรวจรังวัดไม่ผ่านและรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ยังไม่ผ่านการอนุมัติ เป็นต้น ทำให้กพร.ไม่สามารถอนุมัติประทานบัตรได้ ซึ่งในปกติกรมจะอนุมัติประทานบัตรทำเหมืองได้ประมาณ 80-90 แปลงต่อปี

ทั้งนี้ กพร.ยืนยันว่าปัญหาคำขอประทานบัตรทำเหมืองต่างๆ ไม่ได้มีการดึงเรื่องให้ช้าแต่อย่างใด เพราะหากทุกอย่างถูกต้องก็พร้อมที่จะอนุมัติทันทีตามระยะเวลากฎหมายที่กำหนด เนื่องจากอุตสาหกรรมแร่ถือเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศมหาศาล เห็นได้จากปัจจุบันมีการเปิดทำเหมืองจำนวน 585 เหมือง โดยในปี 2558 สามารถสร้างมูลค่าผลผลิตแร่กว่า 6.34 หมื่นล้านบาท

นายชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการปิดเหมืองทองของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) นั้น ขณะนี้ทางกพร.ได้หารือทางข้อกฎหมายที่จะทำการแจ้งเหตุผลถึงการไม่ต่อใบอนุญาตโลหกรรมหรือโรงถลุงแร่ออกไปหลังจากสิ้นสุดในปีนี้ ซึ่งทำให้ต้องปิดเหมืองแร่ทองคำไปโดยปริยาย หลังจากที่บริษัท อัคราฯได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ต่อระยะเวลาออกไป 3-5 ปี ทางกพร.จะใช้เหตุผลตามมติครม.ที่เห็นชอบออกมาตอบกลับไป

แม้ว่าภาครัฐยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเกิดจากการทำเหมืองของบริษัทหรือไม่ แต่การทำเหมืองทองคำซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ย่อมมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและประชาชนสูงอยู่แล้ว โดยใช้นโยบายสาธารณะเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง จึงสั่งปิดเหมืองทองคำในสิ้นปีนี้ และคงไม่มีการทบทวนเปิดเหมืองทองใหม่ จนกว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเปลี่ยนแปลง

"ปกติผู้ที่ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่แล้ว จะต้องมีมาตรการติดตามดูแลตามที่ได้รายงานไว้ในอีไอเอ แต่กรณีของเหมืองทองคำเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ อาจสร้างผลกระทบต่อชุมชน สังคม ค่อนข้างสูง รัฐบาลจึงเห็นว่าถ้ากำหนดเป็นนโยบายเชิงสาธารณะออกมา เพื่อป้องกันปัญหาผลกระทบไว้ก่อน แต่แร่ชนิดอื่นๆ ดำเนินการต่อไปได้ไม่มีปัญหา แต่สาระสำคัญขอให้ผู้ประกอบการนำกรณีของเหมืองทองคำไปเป็นบทเรียน หากดำเนินการไม่ถูกต้องหรือมีผลกระทบเกิดขึ้นภาครัฐก็สามารถที่จะสั่งปิดเหมืองได้" ...

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,172 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559