รัฐจี้ประมูลปิโตรเลียมหมดอายุ เปิดมี.ค.60 แหล่งบงกช-เอราวัณอาจจะไม่ใช้ระบบสัมปทาน

07 ส.ค. 2559 | 03:00 น.
“ปลัดพลังงาน” ชี้ สนช. ยืดเวลาพิจารณา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ไม่กระทบเปิดประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกชหมดอายุ เร่งเข็นทีโออาร์เสร็จปลายปีนี้ เตรียมออกประกาศเชิญชวนภายในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2560 และเริ่มให้สิทธิสำรวจผลิตได้ภายในเดือนกันยายนปีเดียวกัน เผยตัวเลขรื้อถอนแท่นผลิต 2 แหล่ง มูลค่ารวม 2.45 แสนล้านบาท

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าการบริหารจัดการแหล่งสัมปทานเอราวัณและแหล่งบงกช ที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ว่า การแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่มีการแก้ไขมาตรา 23 แห่งพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ที่มีการเพิ่มเติมเป็น 3 ระบบ ได้แก่ ระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี) และระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต(เอสซี) ซึ่งล่าสุดทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)รับหลักการในวาระแรกแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญของ สนช.ภายใน 60 วัน (24 มิถุนายน-23 สิงหาคม 2559) ขณะเดียวกันหากทาง สนช.ยืดระยะเวลาออกไปอีก 60 วัน เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อแผนเปิดประมูล 2 แห่งสัมปทานดังกล่าว

ทั้งนี้เนื่องจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชธ.) ได้เผื่อระยะเวลาไว้แล้ว และคาดว่าร่างเงื่อนไขการเปิดประมูล(ทีโออาร์) จะแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ ซึ่งจะทราบรายละเอียดชัดเจนว่าสัมปทานทั้ง 2 แหล่งจะใช้ระบบใด โดยทั้ง 2 แหล่งอาจไม่จำเป็นต้องใช้ระบบเดียวกัน แต่อาจเป็นระบบสัมปทาน พีเอสซี และเอสซี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ซึ่งรัฐจะเป็นผู้กำหนดต่อไป คาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนและรับคำขอในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2560 จากนั้นจะให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ภายในเดือนกันยายน 2560

ขณะเดียวกันในส่วนของค่ารื้อถอนแท่นผลิตประเมินภาพรวมไว้ที่ 9,000ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นในส่วนของค่ารื้อถอนแท่นแหล่งเอราวัณและบงกช ที่มีอยู่กว่า 200 แท่น ประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 2.45 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามการรื้อถอนแท่นผลิตนั้น ในกฎหมายเขียนไว้ว่าเมื่อสิ้นสุดสัมปทานให้รื้อถอน แต่หากรัฐบาลต้องการใช้ผลประโยชน์จะต้องมีการเจรจา ดังนั้นภายหลังจากสัมปทานทั้ง 2 แหล่งสิ้นสุดสัญญา ทรัพย์สินจะต้องโอนมาเป็นของรัฐ และเอกชนจะต้องรื้อถอนแท่น แต่หากรัฐเห็นว่ายังมีบางแท่นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จะต้องมีปริมาณสำรองมากพอสมควร และผู้รับสัมปทานรายใหม่ต้องการใช้ประโยชน์ต้องรับภาระค่ารื้อถอนด้วยบางส่วน

นายอารีพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการยกร่างกฎกระทรวง 5 ฉบับ และ 1 ประกาศ ประกอบด้วย 1.ประกาศ คณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดรูปแบบการให้สิทธิแต่ละแปลง 2.กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตพ.ศ....(ม.53/1) 3.กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และการได้มาซึ่งผู้รับสัญญาจ้างสำรวจและผลิตพ.ศ....(ม.53/9) 4.กฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตพ.ศ....(ม.53/2) 5.กฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิตพ.ศ....(ม.53/10) และ6.กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และระยะเวลาในการให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตนำส่งค่าภาคหลวงแก่รัฐพ.ศ....(ม.53/6) เพื่อรองรับระบบพีเอสซีและเอสซี จะแล้วเสร็จก่อนร่างทีโออาร์ที่จะเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2559

ส่วนการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ตามข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) หากมีการจัดตั้งในอนาคต จำเป็นต้องรื้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นคนกลางเข้ามาศึกษาเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง(สวค.) เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมต่อไป

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตจากทั้ง 2 แหล่ง คิดเป็นประมาณ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของกำลังการผลิตทั้งหมดในอ่าวไทยที่ 3 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจ่ายเงินค่าภาคหลวง ภาษี คิดเป็น 2ใน 3 ของรายได้จากการสำรวจปิโตรเลียมในปี 2558 รวมทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท และหากการผลิต 2 แหล่งหยุดชะงักในช่วงรอยต่อ ก็จะส่งผลให้รายได้เข้ารัฐลดลงไปด้วย ดังนั้นจะทำอย่างไรให้การผลิตปิโตรเลียมยังคงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามภายหลังร่างทีโออาร์แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ก็จะทราบว่าแต่ละแหล่งจะใช้ระบบใด จากนั้นก็จะออกประกาศเชิญชวนต่อไป โดยคาดหวังว่าจะมีผู้ยื่นประมูลหลายราย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559