ปลัดคลังรอจังหวะเศรษฐกิจฟื้นปี61 นายจ้าง-ลูกจ้างจ่ายเท่ากัน 3%

15 ส.ค. 2559 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2559 | 18:30 น.
คลังแย้มเฟ้นภาคเอกชนบริหาร "เงินกองทุนการออมภาคบังคับ" เน้นให้ผู้ออมปรึกษาผู้ประกอบการเลือกแนวทางการลงทุนหลากหลายและระยะยาว /สศค.เผยอยู่ระหว่างศึกษาอัตราจ่ายสมทบสูงสุดพร้อมหารือผู้ประกอบการ

ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 เห็นชอบการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ(กบช.) โดยการกำกับดูแลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)กระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติที่กระทรวงการคลังและหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมเสนอ ครม.ภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยหลักการสำคัญเป็นช่องทางออมเงินเพื่อการชราภาพที่ครอบคลุมประชาชนวัยแรงงานทุกกลุ่ม ซึ่งแรงงานในระบบที่ส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเพียงอย่างเดียว(เช่น ลูกจ้างภาคเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ และพนักงานของรัฐ)จะมีรายได้หลังเกษียณเพียง 19% ของเงินเดือนๆสุดท้ายต่ำกว่าระดับรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอในอัตรา 50-60% ของรายได้ก่อนเกษียณทำให้ประชาชนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะยากจนในวัยชรา จึงเป็นเหตุผลของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ(Mandatory Provident Fund)สำหรับแรงงานอายุตั้งแต่15-60 ปีซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรวมทั้งสิ้น 11.37 ล้านคน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า แนวคิดให้ กบช.ดำเนินการแบบภาคบังคับสำหรับรัฐวิสาหกิจ บริษัทขนาดใหญ่ นำส่งเงินสมทบเข้า กบช. แต่ไม่ให้มีภาระเพิ่มมากกว่าที่พนักงานสมทบในปัจจุบัน โดยเร็วๆนี้จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.กบช. ให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง พิจารณาเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป โดยขณะนี้ทางสศค. อยู่ระหว่างการพิจารณากลุ่มนายจ้าง ซึ่งอยู่ในข่ายจะยกเว้นอาจเป็นกลุ่มเอสเอ็มอี เนื่องจากส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และยังขาดสภาพคล่อง ดังนั้นแนวทางคือ จะเริ่มนำร่องในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่เสียก่อนเนื่องจากน่าจะมีความพร้อมในการนำเงินอุดหนุนให้กับลูกจ้าง เบื้องต้นอัตราจ่ายสมทบจะอยู่ที่ 3% ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างจะต้องจ่ายเงินในอัตราที่เท่ากัน

สำหรับแนวทางการบริหารนั้น เบื้องต้นทางกบช.จะเป็นฝ่ายคัดเลือกเอกชนเข้ามาบริหาร ซึ่งจะให้กรอบตลอดจนแนวทางการบริหารเงินกองทุนอย่างมีแบบแผนที่ชัดเจน เช่น แนวทางการบริหารสินทรัพย์ รวมถึงการลงทุนที่จะเน้นไปที่การลงทุนระยะยาว เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการชราภาพที่ต้องให้ผู้สูงอายุได้รับเงินหลังเกษียณ ส่วนรูปแบบจะคล้ายการดำเนินงานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งจะดีกว่าให้ภาครัฐเข้ามารบริหารเอง ในแง่ของการลงทุนนั้น เป็นการเปิดให้ผู้ออมปรึกษากับนายจ้างเรื่องแนวทางการลงทุนซึ่งเปิดให้มีการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น

"เราคาดว่าจะเริ่มในปี 2561 เพื่อให้เตรียมความพร้อม เนื่องจากนายจ้างต้องมีการชำระหรือสะสมเพิ่มให้กับลูกจ้าง ซึ่งการประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2560 น่าจะฟื้นตัวดีกว่าปี 2559 ดังนั้น การจะให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเพิ่มก็น่าจะเหมาะสมกับห้วงเวลา และยืนยันว่า เกณฑ์ใดๆที่กบข. กองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.)หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับสิทธิประโยชน์นั้นทางกบช.ก็จะอยู่ภายใต้เกณฑ์เดียวกันโดยอัตราภาษีเป็น 0%"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559