ธปท.สั่ง ttb ดูแลลูกค้า-เร่งแก้ไขระบบให้เสถียร หลังแอปล่ม 3 วันติด

05 ก.ย. 2565 | 03:53 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2565 | 11:11 น.

แบงก์ชาติ เรียกผู้บริหาร ttb แจงข้อเท็จจริง พร้อมให้เร่งแก้ไข หาแนวทางยกระดับมาตรฐานระบบให้เสถียร หลังระบบโมบายล์แบงกิ้งแบงก์ขัดข้อง 3 วันติด

นางสาว สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ระบบโมบายล์แบงกิ้งของธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ttb ขัดข้อง ระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน 2565 ทำให้ลูกค้าไม่สามารถใช้งานได้หรือใช้เวลานานในการทำธุรกรรมนั้น 

 

 

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

ธปท. ได้รับรายงานปัญหาที่เกิดขึ้น และตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกค้าที่จำเป็นต้องทำธุรกรรมในช่วงดังกล่าว โดยได้สั่งการให้ ttb เร่งช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบให้ได้อย่างครบถ้วนและทันท่วงที ซึ่ง ttb ได้ขยายช่องทางให้บริการสำรองแก่ลูกค้า รวมทั้งขยายเวลาการให้บริการสาขานอกห้าง และจัดเตรียม Call Center ให้พร้อมรองรับการให้ความช่วยเหลือและการทำธุรกรรมของลูกค้าอย่างเต็มที่ในทุกกรณี

 

อ่านเพิ่ม :  TTBเยียวยาลูกค้ากรณีแอปล่ม ทั้งลูกค้าทีเอ็มบีธนชาตและลูกค้าแบงก์อื่น

 


 

แม้ปัจจุบันสถานการณ์การให้บริการโมบายล์แบงกิ้งเริ่มคลี่คลาย ธปท. ได้กำชับให้ ttb ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าการให้บริการจะไม่สะดุดลงอีก พร้อมกับสั่งการดังต่อไปนี้ 

 

  • 1.ผู้บริหาร ttb เข้ารายงานข้อเท็จจริงและแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้น
  • 2.ttb ต้องจัดทำแผนปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานของระบบ เพื่อให้บริการโมบายล์แบงกิ้งของ ttb มีความเสถียร โดยให้คณะกรรมการธนาคารกำกับดูแลการนำแผนไปปฏิบัติและประเมินผล อย่างจริงจัง รวมทั้งรายงานผลให้ ธปท. ทราบเป็นระยะ
  • 3.คณะกรรมการธนาคารต้องพิจารณาความพร้อมของระบบการให้บริการ ก่อนออกผลิตภัณฑ์ใหม่ด้านดิจิทัล หรือก่อนเปลี่ยนระบบงานที่จะส่งผลต่อการให้บริการโมบายล์แบงกิ้งอย่างรอบคอบ
     
     

ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการกับ ttb เพิ่มเติมจากเหตุการณ์ดังกล่าว 

 

ธปท. ขอยืนยันว่า ระบบการชำระเงินโดยรวมไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ และยังให้บริการได้ตามปกติ ทั้งนี้ ธปท. ยังมุ่งดูแลบริการด้านการชำระเงินให้เป็นไปอย่างราบรื่น สามารถตอบโจทย์การพัฒนาระบบการเงินดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน