ท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้คนไทยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมาแล้วมากกว่า 4 ล้านครอบครัว ประกาศพร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านไว้ให้นานที่สุดอย่างน้อยถึงสิ้นปี 2565 เพื่อแบ่งเบาภาระค่างวดให้กับลูกค้าเงินกู้บ้าน
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)เปิดเผยว่า ด้วยผลการดำเนินงานของ ธอส.ที่ยังแข็งแรง โดยคาดว่า จะปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ถึง 3 แสนล้านบาทในปี 2565 ขณะนี้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 เพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านบาทจากสิ้นปี 2564 โดยอยู่ที่ 6.8 หมื่นล้านบาทคิดเป็น 4.41% ของสินเชื่อรวม 1.6 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันยังต้องบริหารจัดการให้ธนาคารมีกำไรตามเป้าหมายตัวชี้วัด 1.34 หมื่นล้านบาท เพื่อนำ 45%ของกำไรสุทธิส่งเป็นรายได้ให้กับกระทรวงการคลังนำไปใช้จ่ายเป็นงบประมาณแผ่นดินต่อไป
ขณะที่สถานการณ์ของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในขณะนี้มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งสถานการณ์ของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ธนาคารพาณิชย์เริ่มกลับเข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น ที่อยู่อาศัยมีราคาสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการลงทุนก่อสร้าง ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และกำลังซื้อของประชาชนที่แม้จะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังไม่เท่ากับการปรับขึ้นของราคาที่อยู่อาศัยและอัตราดอกเบี้ย
ดังนั้น ธอส.ต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ธนาคารสามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย ด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย และสามารถรับมือกับปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้น
ธอส.จึงได้ลงทุนพัฒนาทางด้านระบบเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลใหม่ๆ ด้วยงบประมาณลงทุนรวมไม่เกิน 400 ล้านบาท โดยใช้ชื่อว่า end to end process หรือ การให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายผ่านบริการด้านดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกและลดต้นทุนการดำเนินงานของธนาคารได้ไปพร้อมกัน
โดยมี 3 module หลักประกอบด้วย
"เมื่อ GHB ALL GEN พัฒนาได้สมบูรณ์ทุกบริการแล้ว จะทำให้ลูกค้าเข้าถึง ธอส. ได้สะดวกยิ่งขึ้นโดยสามารถปรึกษากับพนักงานสินเชื่อ Digital LO(Loan Officer) ได้เสมือนเดินทางไปที่สาขา โดยธนาคารจะถ่ายโอนลูกค้าให้ย้าย Application GHB ALL ไปสู่ GHB ALL GEN ให้ได้ทั้งหมดจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 ซึ่งในขณะนั้นบริการต่าง ๆ ใน GHB ALL GEN จะให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ"นายฉัตรชัยกล่าว
ทั้งนี้ การนำ Data Analytic ทางด้านการประเมินราคาที่อยู่อาศัยมาพัฒนาระบบ Digital Appraisal ทำให้ลูกค้าทราบราคาประเมินบ้านเบื้องต้นได้ทันทีในขณะยื่นกู้กับเจ้าหน้าที่ โดยราคาจะเบี่ยงเบนจากราคาหลังเจ้าหน้าที่เข้าประเมินจริงไม่เกิน 8% จากเดิมต้องรอให้เจ้าหน้าที่ลงสำรวจที่อยู่อาศัยจริงซึ่งจะทำให้ผู้กู้ทราบราคาประเมินอย่างเป็นทางการได้ในระยะเวลา 3-7 วันหลังยื่นเอกสารคำขอกู้
เมื่อเรื่องเข้าสู้กระบวนการพิจารณาสินเชื่อ ธนาคารจะมีการแจ้งเตือนผลการพิจารณาผ่าน Notification ของ GHB BUDDY บน Line Application โดยกระบวนการแบบดิจิทัลข้างต้น กรณีที่ลูกค้ามีเอกสารประกอบการยื่นกู้ให้กับเจ้าหน้าที่ได้ครบถ้วน ไม่มีประวัติการผ่อนชำระสินเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ปกติ คาดว่าลูกค้าจะสามารถทราบผลการพิจารณาได้โดยใช้เวลาเพียง 3 วันทำการ
ลูกค้ายังสามารถเซ็นสัญญาเงินกู้แบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการลงนามรูปแบบกระดาษได้ด้วย e-Contract ซึ่งธนาคารจะ โอนเงินกู้ค่าซื้อที่อยู่อาศัยเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ Developer แทนการจัดทำแคชเชียร์เช็ค ทำให้ผู้ขายไม่ต้องเสียเวลาและลดขั้นตอนนำแคชเชียร์เช็คที่ได้รับจากผู้ซื้อไปขึ้นเงินเหมือนที่ผ่านมา
หลังจากลูกค้าทำนิติกรรมการโอนและจดจำนองที่กรมที่ดินเรียบร้อยแล้ว ลูกค้าสามารถรับโฉนดที่ดินฉบับจริงกลับบ้านได้ทันที ด้วยโครงการจัดเก็บ Electronic File แทนเอกสารสิทธิ์ต้นฉบับ(ไม่เก็บโฉนด) โดยธนาคารจะจัดเก็บโฉนดในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์แทนการจัดเก็บเอกสารฉบับจริง ทำให้ลูกค้าจะได้รับโฉนดฉบับจริงกลับบ้านในวันทำนิติกรรมได้ทันที และเมื่อได้เป็นลูกค้าของ ธอส. แล้วก็จะสามารถผ่อนชำระเงินกู้ผ่าน GHB ALL GEN ได้ทันทีโดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขา
ธนาคารยังอยู่ระหว่างพัฒนาแอปพลิเคชัน GHB ALL HOME ให้มีครบทุกความต้องการเรื่องบ้านมือสองธอส.ที่พัฒนาต่อ ยอดจาก Application GHBank Smart NPA สามารถให้บริการได้หลากหลายยิ่งขึ้นทั้งค้นหารายการทรัพย์และแสดงรายละเอียดข้อมูลบ้านมือสองของธนาคารรวมถึงยื่นคำร้องขอดูสภาพของที่อยู่อาศัยในสถานที่จริง จองซื้อบ้าน ประมูลออนไลน์พร้อมเพิ่มบริการชำระเงินมัดจำ เงินดาวน์ รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการซื้อทรัพย์ของธนาคาร อีกทั้งลูกค้าสามารถยื่นคำร้องต่างๆ ผ่านแอปนี้ ได้อีกด้วย และมีกำหนดเปิดให้ลูกค้าดาวน์โหลดใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2565
นอกจากนี้ ธอส. ยังได้เริ่มจัดทำโครงการ Renovate บ้านมือสองของ ธอส. ก่อนนำออกจำหน่าย ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ของธนาคาร เนื่องจากการนำบ้านเก่ามารีโนเวทกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เพราะบ้านมือสองมีราคาที่ถูกกว่าบ้านใหม่ และอยู่ในทำเลที่ตั้งเหมาะสม ธอส.จึงคัดเลือกทรัพย์ทำเลดี ที่ตั้งเหมาะสมนำไปรีโนเวททรัพย์ใหม่ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,826 วันที่ 13 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2565