‘ออมสิน’ รุกนอนแบงก์เต็มตัว ยื่นขอไลเซ่นส์ธปท.

14 ต.ค. 2565 | 11:01 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2565 | 18:28 น.

แบงก์ออมรุกนอนแบงก์ เตรียมยื่นขอไลเซ่นส์ธปท. คาดเปิดดำเนินการครึ่งหลังปี 66 พร้อมเดินหน้าเปิด 2 บริการใหม่ “สินเชื่อที่ดิน-สินเชื่อ MyMo MyCredit” เจาะกลุ่ม Small SMEs ดอกเบี้ย6.99-8.99% ต่อปี เจาะกลุ่มอาชีพอิสระ-มนุษย์เงินเดือน

หลังประกาศพันธกิจธนาคารเพื่อสังคม ด้วยการรุกธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) นำร่องด้วยการจับมือกับกลุ่มศรีสวัสดิ์เปิดตัวบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด เพื่อเดินหน้าธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ตามด้วยร่วมทุน กับบมจ.ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์และกลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จัดตั้งบริษัท มีที่มีเงิน จำกัด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ให้เข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนถูก โดยมียอดอนุมัติสินเชื่อแล้วรวม 21,254 ล้านบาท

 

ล่าสุดนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคาร ออมสินเปิดเผยว่า ธนาคารจะเข้าสู่ธุรกิจนอนแบงก์อย่างเต็มตัว โดยจะยื่นขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ เพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Lending) หรือสินเชื่อพีโลน ซึ่งธนาคารออมสินเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงจะส่งบริษัท มีที่มีเงิน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกเข้าถือหุ้นร่วมกับพันธมิตร คาดจะยื่นขอใบอนุญาตจากธปท.ได้ต้นปี 2566 และสามารถเปิดบริการได้ครึ่งปีหลังปี 2566

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคาร ออมสิน

 

“นอนแบงก์ใหม่จะเป็นเหมือนธุรกิจการเงินอีกแห่งของออมสิน แต่จะทำผ่านแอปพลิเคชั่นใหม่ เป็นสินเชื่อดิจิทัลหรือดิจิทัลเลนดิ้งทั้งหมด เพื่อรุกตลาดใหม่และขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ โดยมีดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด 3-5% ขึ้นกับความเสี่ยงของลูกค้า ขณะที่ดอกเบี้ยในตลาดไม่เกิน 25%ต่อปี รวมทั้งต้องการปิดช่องกู้หนี้นอกระบบและลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะช่วยแบ่งเบาภาระผู้กู้กลุ่มฐานรากสามารถทำรีไฟแนนซ์ได้ด้วย” นายวิทัยกล่าว 

‘ออมสิน’ รุกนอนแบงก์เต็มตัว ยื่นขอไลเซ่นส์ธปท.

ธนาคารยังเตรียมเปิดให้บริการสินเชื่อมายโม-มายเครดิต (MyMo MyCredit) ภายใต้วงเงินรวม 1-2 พันล้านบาท ลูกค้าเป้าหมาย 1 แสนราย โดยปล่อยกู้ให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ(พ่อค้า แม่ค้า รับจ้าง) และมนุษย์เงินเดือน วงเงินกู้ 1-3 หมื่นบาทต่อราย  ระยะเวลาผ่อนชำระ 2 ปี ดอกเบี้ยไม่เกิน 1.25% ต่อเดือน โดยจะใช้ข้อมูลอื่นมาวิเคราะห์แทนรายได้ (Alternative Data) เช่น การเดินบัญชี ดูข้อมูลธุรกรรมการเงินลูกค้า โดยคาดว่า จะเริ่มเปิดขอสินเชื่อได้เดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ และจะมีคนขอสินเชื่อ 1 แสนคน จากฐานลูกค้าใช้แอปมายโม 13 ล้านคน

จุดเด่นของสินเชื่อ MyMo MyCredit คือ ลูกค้าธนาคารออมสินสามารถยื่นสมัครขอสินเชื่อผ่านแอป MyMo โดยไม่ต้องใช้เอกสารใดๆ และไม่ต้องใช้หลักประกันในการกู้ เพียงกรอกเลขที่และข้อมูลบัตรประชาชน และธนาคารไม่คิดค่าธรรมเนียมการให้บริการสินเชื่อ โดยธนาคารจะใช้ข้อมูลการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้ามาประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ

 

หากลูกค้าผ่านเกณฑ์การพิจารณาก็จะสามารถสร้างเครดิตทางการเงินที่ดีให้กับตัวเอง และทำสัญญาเงินกู้บนแอป รับเงินโอนเข้าบัญชีโดยตรง จากนั้นการจ่ายเงินงวดทำได้โดยธนาคารจะหักจากบัญชีเงินฝากเมื่อครบกำหนดชำระในแต่ละงวดโดยอัตโนมัติ เป็นการอนุมัติสินเชื่อผ่านแอพทั้งกระบวนการ

 

“การให้สินเชื่อผ่านแอป MyMo เริ่มจากโครงการนโยบายรัฐหรือ พีเอสเอก่อน แต่ปัญหาคือไม่สามารถตรวจสอบรายได้ได้ ครั้งนี้ออมสินจึงขยายไปใช้ข้อมูลอื่นแทนรายได้อย่างการเดินบัญชีเพื่อให้รู้ประวัติลูกค้า ซึ่งที่ผ่านมามีธนาคารทำน้อย เช่น การใช้ข้อมูลค่าน้ำ ค่าไฟ มาประกอบพิจารณาสินเชื่อ และธนาคารเหล่านี้กำลังดูความเสี่ยงของหนี้เสียอยู่ มองว่า ปัจจุบันคนฐานรากยังขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบที่มีต้นทุนต่ำ จึงทำให้ต้องหันไปพึ่งการกู้นอกระบบ กลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในสังคมไทย” นายวิทัยกล่าว

 

นอกจากนั้น ธนาคารจะต่อยอดสินเชื่อ SMEs มีที่มีเงิน ที่ประสบความสำเร็จในช่วงปี 2563-2565 โดยจะเปิดให้บริการนำร่องสินเชื่อที่ดินเฟส 3 สำหรับ Small SMEs วงเงิน 5,000 ล้านบาทในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

 

หลังจากเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในพื้นที่ดังกล่าว ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2565 และคาดว่าวันที่ 1 มกราคม 2566 จะขยายการให้บริการลูกค้าหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศโดยให้วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 80%ของราคาประเมินที่ดินราชการ ระยะเวลากู้สูงสุด5ปี ปลอดชำระเงินต้น 1ปี อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 6.99-8.99% ต่อปีสำหรับบุคคลธรรมดาวงเงินกู้ตั้งแต่ 3 แสนบาทถึง 10 ล้านบาทต่อราย ส่วนนิติบุคคลวงเงินกู้ตั้งแต่ 3แสนบาทถึง 50 ล้านบาทโดยไม่ตรวจเครดิตบูโร

 

ทั้งนี้สินเชื่อมีที่มีเงินเฟส3 Small SMEs ไม่เน้นนโยบายยึดหลักประกัน ดำเนินธุรกิจสินเชื่อที่ดิน (จำนอง) และขายฝากที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม ไม่ตรวจสอบรายได้และไม่ต้องมีบุคคลค้ำประกัน

 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,826 วันที่ 13 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2565