หลังธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 3 ปี 2565 พบว่า กำไรรวม 53,814 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,172 ล้านบาทหรือ 26.10% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 42,642 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกปีนี้ กำไรรวม 159,609 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 19,072 ล้านบาทหรือ 13.8% จากงวด 9 เดือนปีก่อนอยู่ที่ 140,537 ล้านบาท
สาเหตุหลักของการทำกำไรปีนี้ หลักๆมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยไตรมาส 3 กลุ่มธนาคารมีรายได้จากดอกเบี้ยรวม 156,516 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 17,423 ล้านบาทหรือ 12.5%จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 139,093 ล้านบาท โดยเฉพาะงวด 9 เดือนที่มีรายได้ดอกเบี้ย 447,069 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36,982 ล้านบาทหรือ 9.0% จาก 410,086 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน
นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ttb Analytics เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนปีนี้ ออกมาดีกว่าตลาดมอง โดยกำไรที่ปรับตัวดีต่อเนื่องมาจากรายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบริการ โดยเฉพาะเทรดไฟแนนซ์ เพราะรอบปีที่ผ่านมา ตลาดผันผวนทั้งตลาดเงินและตลาดทุน ทำให้ลูกค้าทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจาก อัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
บวกกับค่าธรรมเนียมจากการขายแบงก์แอสชัวรันส์ทั้งตลาดที่กลับมาฟื้นดีขึ้น หลังเปิดเมือง ประกอบกับผลจากผู้บริโภคหาผลกำไรตอบแทน ทำให้มีเงินจากกองทุนรวมเข้ามาลงทุนในประกันออมทรัพย์มากขึ้นด้วย เนื่องจากค่าธรรมเนียมจากกองทุนที่ยังไม่ฟื้นตัว
“รายได้ค่าธรรมเนียมโตต่อเนื่องทุกตัว ยกเว้นกองทุนที่ยังไม่กลับมาในระดับที่ดีเท่าเดิม ส่วนเทรดไฟแนนซ์นั้นรวมปริวรรตเงินตราที่คนมาทำป้องกันอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น” นายนริศกล่าว
สำหรับสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับตัวลดลง เพราะยังไม่สะท้อนภาพอนาคต หากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น หรือความไม่แน่นอนของโลก ผู้ผ่อนรายย่อย เอสเอ็มอีจะไหวหรือไม่ ดังนั้น ความกังวลดังกล่าว ส่งผลต่อภาระกันสำรองของธนาคารไม่ได้ลดลงนัก แต่กำไรมาจากรายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่กลับมาโตต่อเนื่อง
“ไตรมาส 4 ปีนี้ยังมองผลประกอบการกลุ่มแบงก์เติบโตได้ดีต่อเนื่อง แต่ห่วงปี 2566 เพราะแบงก์ในระบบต้องกลับไปจ่ายเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) อัตราเดิม 0.46% หลังครบกำหนดอัตรา 0.23% ในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนเงินฝากกลับเข้ามา จึงเป็นไปได้ยากที่กลุ่มแบงก์จะอั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ย แม้แบงก์พยายามจะดูแลให้ลูกค้าไปได้ จึงขึ้นกับธนาคารจะบริหารจัดการต้นทุนอย่างไร”นายนริศกล่าว
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ 9 แห่งในไตรมาส 3 ปี 65 จำนวน 510,400 ล้านบาทคิดเป็น 3.11% ของสินเชื่อรวม ลดลง 3.22% จากไตรมาส 2 ปีนี้ที่มี 534,509 ล้านบาท แต่ลดลง 3.47% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 551,419 ล้านบาท
ดังนั้นไตรมาส 4 ปีนี้ จะเห็นภาพเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนปรับลดลงเรื่อยๆ ทั้งจากการจัดการตัดขาย ตัดหนี้สูญ และปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว แต่แนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวบนความเสี่ยงมากขึ้น ยังต้องระมัดระวังคุณภาพสินทรัพย์ โดยมีโอกาสที่เอ็นพีแอลจะต่ำกว่าคาดการณ์เดิม ที่มองเอ็นพีแอลที่ 2.95-3.05% แต่หากไม่มีการจัดการเชิงรุกต่อเนื่อง ยังมีความเสี่ยงที่จะเห็นเอ็นพีแอลทยอยเพิ่มขึ้น
ส่วนไตรมาส 4 รายได้จากธุรกิจหลักทั้งรายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่เอื้อทั้งทิศทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวและธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย รวมทั้งการใช้จ่ายบัตรเครดิตในช่วงปลายปี ขณะเดียวกันส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) มีโอกาสอัพไซต์จากเดิม มองทั้งปีคาดว่า จะอยู่ที่ 2.65% เนื่องจากไตรมาส 3 ปีนี้ NIM อยู่ที่ 3.02% ของงบรวม ซี่งสูงกว่า 2.86%เมื่อไตรมาส 2 ปีนี้และสูงกว่า 2.81% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
“มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวปีหน้า หากเศรษฐกิจไทยประคองการฟื้นตัวได้ย่อมส่งผลต่อการฟื้นตัวของธุรกิจหลักของกลุ่มแบงก์ โดยไตรมาส 3 เริ่มเห็นรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและ NIM สูงกว่าคาด ทั้งปีจึงมีโอกาสอัพไซต์ส่วนแนวโน้มกันสำรองไตรมาส 4 จะทรงตัวเทียบไตรมาส 3 และปรับลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน” นางสาวกาญจนากล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,830 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2565