บสย. พร้อมค้ำประกันสินเชื่อร้านโชห่วย แก้หนี้นอกระบบ

23 ม.ค. 2566 | 04:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ม.ค. 2566 | 04:30 น.

บสย. เสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก พร้อมค้ำประกันสินเชื่อร้านโชห่วย หนุนเติบโตยั่งยืน ลดปัญหาพึ่งพิงหนี้นอกระบบ ผนึก “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์-ธนาคารพันธมิตร”

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย. ได้ร่วมมือทางการเงิน ยกระดับธุรกิจร้านค้าปลีกและร้านโชห่วยชุมชน “ร้านโดนใจ” เสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนและฐานรากของกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ที่ต้องการมีกิจการเป็นของตัวเอง และผู้ประกอบการร้านโชห่วย ที่ต้องการยกระดับพัฒนาโมเดลสู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่

 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมแกร่งกิจการสู่ความยั่งยืน ด้วยระบบบริหารจัดการหน้าร้าน หรือ POS ซึ่งเป็นระบบการจัดการ ช่วยเสริมประสิทธิภาพการขายหน้าร้าน และเครือข่ายซัพพลายเออร์ ซึ่งที่ผ่านมา บสย. ได้สนับสนุนค้ำประกันสินเชื่อ ผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วยมากกว่า 70,000 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ กลุ่มกิจการค้าปลีกรวมกว่า 50,000 ล้านบาท

 

“มั่นใจว่าจะช่วยให้ร้านค้าโชห่วยใน Supply Chain ภายใต้โมเดล “ร้านโดนใจ” สามารถเข้าถึงสินเชื่อ โดยมี บสย. ค้ำประกัน มากกว่า 400 ร้านค้า”

พร้อมเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ลดการพึ่งพาเงินทุนนอกระบบ ผ่าน 3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ได้แก่

  1. โครงการค้ำประกันสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยถูก พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู อัตราดอกเบี้ย และ ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน บสย. ไม่เกิน 3% ต่อปี ใน 2 ปีแรก และ ดอกเบี้ย 5 ปีแรกเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี
  2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบันการเงินระยะที่ 7 หรือ Bi 7 ค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อขั้นต่ำ 2% ต่อปี บสย. ค้ำประกันสูงสุด 10 ปี
  3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อค่าธรรมเนียมตามความเสี่ยง ที่จะช่วยให้ลูกค้ารับภาระค่าธรรมเนียมค้ำลดลงตามความเสี่ยง

​นอกจากนี้ บสย. ยังมีบริการให้คำปรึกษาทางการเงิน ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A.Center)เติมความรู้ทางการเงินและธุรกิจ แนะนำแนวทางการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การปรับปรุงแผนธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้ ลงทะเบียนผ่านช่องทาง LINE TCG First 24 ชั่วโมง

​สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วย เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาโมเดลโชห่วย สู่ค้าปลีกยุคใหม่ “ร้านโดนใจ” และ เครือข่ายพันธมิตรทางการเงิน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารออมสิน