ครม.เคาะสมาชิกกอช.รับเงินบำนาญสูงสุด 1.2 หมื่นบาท/เดือน

24 ม.ค. 2566 | 08:51 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2566 | 08:51 น.

รมว.คลังเผยครม.ไฟเขียวแก้กฎหมายกอช. เพิ่มเงินสมทบสมาชิกเป็น 1,800 บาท/ปี ออมเงินได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 30,000 บาท หนุนรับบำนาญสูงสุดเดือนละ 12,000 บาท จูงใจนอกระบบออมเงินเพิ่มรองรับวัยเกษียณ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ พ.ศ. .... (ร่างกฎกระทรวงฯ) ของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

 

โดยร่างกฎกระทรวงฯ ได้ปรับเพิ่มจำนวนเงินสะสมสูงสุดของสมาชิก และจำนวนเงินสมทบสูงสุดที่รัฐบาลจ่ายให้สมาชิก รวมทั้งกำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ดังนี้

 

  1. ปรับเพิ่มวงเงินจำนวนสะสมสูงสุดของสมาชิก

จากปัจจุบัน 13,200 บาทต่อปี เป็น 30,000 บาทต่อปี โดยรับประกันผลตอบแทนเต็มจำนวน

  1. ปรับเพิ่มจำนวนเงินสมทบสูงสุดจากรัฐบาล
  • อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี รับเงินสมทบ 50% ต่อเงินสะสม และเพิ่มเงินสมทบสูงสุดจากปัจจุบัน 600 บาทต่อปี เป็น 1,800 บาทต่อปี
  • อายุเกิน 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี รับเงินสมทบ 80% ต่อเงินสะสม และเพิ่มเงินสมทบสูงสุดจากปัจจุบัน 960 บาทต่อปี เป็น 1,800 บาทต่อปี
  • อายุเกิน 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี รับเงินสมทบ 100% ต่อเงินสะสม และเพิ่มเงินสมทบสูงสุดจากปัจจุบัน 960 บาทต่อปี เป็น 1,800 บาทต่อปี

ทั้งนี้ สมาชิก กอช. ที่เริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี และออมต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปี จะมีโอกาสได้รับเงินบำนาญประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน จากเดิมประมาณ 5,300 บาทต่อเดือน ในกรณีส่งเงินสะสมเต็มเพดานเงินสะสม

ซึ่งเงินบำนาญที่คาดว่าจะได้รับขึ้นอยู่กับจำนวนเงินในบัญชีประกอบด้วยเงินสะสมของสมาชิก เงินสมทบจากรัฐ และผลตอบแทนจากการนำเงินดังกล่าวไปลงทุน

นายอาคม กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบใดๆ จำนวน 19 ล้านคน ขณะที่กอช. มีสมาชิกอยู่เพียง 2.5 ล้านคน จึงได้มอบนโยบายให้กอช. ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสมาชิกขึ้นอีก 5 ล้านคน โดยเป็นการร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนออมรองรับวัยเกษียณมากยิ่งขึ้น

“การที่จำนวนเงินสะสมและเงินสมทบที่สูงขึ้น จะทำให้สมาชิก กอช. มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงในอนาคตให้มีเงินเพียงพอในการดำรงชีพยามชราภาพ และเป็นการสนับสนุนการออมของแรงงานนอกระบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม”