“ถูกดูดเงิน”แบงก์ต้องช่วยทันที ตามกฎหมายใหม่ ให้ทำตามนี้

14 ก.พ. 2566 | 22:43 น.

“ถูกดูดเงิน”แบงก์ต้องช่วยทันที ตามกฎหมายใหม่ หลังรัฐบาลคลอด พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามโจรไซเบอร์ ฉบับล่าสุด ให้ปฏิบัติตามนี้

จากกรณีที่ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ....ไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 วัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนจากมิจฉาชีพ ที่มักก่อเหตุล่อลวงประชาชนด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้เกิดธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ได้สมัครใจ เช่น หลอกให้โอนเงิน โดยการทำให้หลงเชื่อ โดยการโจรกรรมข้อมูล (แฮกข้อมูล) การฝังมัลแวร์ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อควบคุมอุปกรณ์ของเหยื่อจากระยะไกล เป็นต้น 

อ่านข่าว : 5 วิธีป้องกันแอปดูดเงิน รู้ทันมิจฉาชีพ ก่อนเงินเกลี้ยงบัญชี

ฐานเศรษฐกิจ กางร่าง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฉบับล่าสุด เป็นวิธีปฏิบัติเมื่อตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ หลอกดูดเงินในบัญชี ให้ปฏิบัติตามนี้

ขั้นตอนปฏิบัติ เมื่อถูกหลอกดูดเงิน

 

  1. หากรู้ตัวว่าเผลอไปกดลิงก์ หรือเผลอโหลดแอพพลิเคชั่น ที่ไม่ปลอดภัย ให้รีบตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทันที แล้วสำรองข้อมูลสำคัญ จากนั้นให้รีบล้างเครื่อง หรือกดตั้งค่าโทรศัพท์ เป็นค่าเริ่มต้นจากโรงงาน
  2. หากได้โอนเงิน หรือถูกดูดเงินออกจากบัญชีไปแล้ว ให้รีบแจ้งธนาคาร หรือผู้ประกอบธุรกิจที่รักษาบัญชีของเราทันที 
  3. ธนาคาร หรือผู้ประกอบธุรกิจ ต้องระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราวทันที พร้องแจ้งสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันที
  4. ผู้เสียหายต้องไปร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใน 72 ชั่วโมง โดยผู้เสียหายควรให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และไม่ปกปิดข้อมูล ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ 
  1. สถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบการที่เก็บข้อมูลบัญชีเงินฝากหรือธุรกรรม และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ต้องเปิดเผยข้อมูล หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชี และธุรกรรมของลูกค้า หากมีเหตุอันควรสงสัยว่ามี หรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผ่านระบบกลาง หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) กรมสอบสวนคดีพิศษ(ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เห็นชอบร่วมกัน
  2. หากเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และมีความจำเป็นต้องทราบข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งาน สตช. ,ดีเอสไอ หรือปปง. มีอำนาจสั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องและจัดส่งข้อมูลดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด