กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาเปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัด เงินเฟ้อ จากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนม.ค.2566 เมื่อวันอังคาร (14 ก.พ.) โดยตัวเลข CPI ทุกรายการสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ทำให้นักลงทุนเชื่อว่า เฟดยังจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ก่อนที่จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปี
ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.4% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.2%
นอกจากนี้ เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4%
ในวันเดียวกัน (14 ก.พ.) กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้เปิดเผย ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน มีการปรับตัวขึ้น 5.6% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี อัตราดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.5%
และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%
ทั้งนี้ แนวโน้มเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ทำให้ FedWatch Tool ของ CME Group ให้น้ำหนักว่า เฟดน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนมี.ค.และเดือนพ.ค.
นอกจากนี้ FedWatch Tool บ่งชี้ว่า เฟดยังอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนมิ.ย.หรือก.ค. ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ย.2566
ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2550
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 8 ติดต่อกันนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565
แถลงการณ์ของเฟดระบุว่า ถึงแม้เงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงแล้ว แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้เฟดมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยต่อไป
ไทม์ไลน์การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดตลอดทั้งปี 2565 และปีนี้ เป็นดังนี้
ปี 2565
วันที่ 25-26 ม.ค. คงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25%
วันที่ 15-16 มี.ค. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 0.25-0.50%
วันที่ 3-4 พ.ค. ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ 0.75-1.00%
วันที่ 14-15 มิ.ย. ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 1.50-1.75%
วันที่ 26-27 ก.ค. ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 2.25-2.50%
วันที่ 20-21 ก.ย. ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 3.00-3.25%
วันที่ 1-2 พ.ย. ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 3.75-4.00%
วันที่ 13-14 ธ.ค. ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ 4.25-4.50%
ปี 2566
วันที่ 31 ม.ค. -1 ก.พ. ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 4.50-4.75%