แบงก์ชิงเค้ก LGBTQ+ เพิ่มทางเลือกกู้ร่วม

16 ก.พ. 2566 | 21:15 น.

แบงก์แห่ชิงเค้กกลุ่ม LGBTQ+ เข้าถึงสินเชื่อบ้าน เพิ่มทางเลือกวางแผนกู้ร่วม “ซีไอเอ็มบีไทย-ยูโอบี” เจาะกลุ่มรายได้ 3 หมื่นบาทขึ้นไป “กสิกร-กรุงศรี”ชูความเท่าเทียมผ่าน “สินเชื่อคู่เพื่อน”

ผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQ+ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกวัน จากสังคมโลกที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงตัวตนกันมากขึ้นคาดการณ์ว่ากลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลกมี 486 ล้านคนอยู่ในแถบเอเชีย 288 ล้านคนและในไทยมีประมาณ 4 ล้านคนสัดส่วนราว 5% ของประชากรไทย

นับเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางการเงิน มีความสามารถในการใช้จ่าย ซึ่งผลการศึกษาของบริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัดระบุว่า กลุ่ม LGBTQ+ มีรายได้มากกว่ากลุ่มสถานะชายหญิงเมื่อเทียบกับคนในวัยเดียวกัน โดยมีรายได้ 50,000-85,000 บาทต่อเดือน

ขณะที่ประเทศไทยเริ่มมีกฎหมายที่รองรับชีวิตความเป็นอยู่ของคนกลุ่ม LGBTQ+ ทำให้กลุ่มนี้น่าจับตามอง โดยเฉพาะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้จับมือกับสถาบันการเงินพันธมิตรปูพรมจับทางกลุ่ม LGBTQ+ เป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ เปิดโอกาสให้เป็นเจ้าของร่วมหรือซื้ออสังหาริทรัพย์ร่วมกัน

  • CIMBTตั้งเป้า1.5พันล้าน 

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT)เปิดเผยว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยปีนี้ ซีไอเอ็มบีไทยให้ความสำคัญกับกลุ่ม LGBTQ+ หลังจากเริ่มทดลองทำตลาดเจาะกลุ่มผู้มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ปรากฏว่า ผลตอบรับระยะสั้นมีลูกค้าเข้ามากว่ามาก 10 ราย คาดว่า จะขยายสินเชื่อประมาณ 1,500 ล้านบาทจากกลุ่ม LGBTQ+

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสินเชื่อ LGBTQ+ สัดส่วนเพียง 5%ของเป้าหมายที่จะปล่อยสินเชื่อบ้านใหม่ทั้งปี 2566 ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 15%จากปีที่แล้วที่สิ้นปีพอร์ตสินเชื่อคงค้างน่าจะมีจำนวน 1.2 แสนล้านบาทจากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 1.05 แสนล้านบาท

“ขณะนี้หลายแบงก์หันมาทำตลาดสินเชื่อบ้านกลุ่ม LGBTQ+ เราเองก็ให้ความสำคัญกับเซ็กเมนต์นี้ เพราะมองว่า เป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางสังคม นอกเหนือจากการให้นํ้าหนักด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาลแล้ว” นายเอกสิทธิ์กล่าว

แบงก์ชิงเค้ก LGBTQ+ เพิ่มทางเลือกกู้ร่วม

ทั้งนี้ จุดเด่นที่ซีไอเอ็มบีไทยมีความแตกต่างจากค่ายอื่นคือ กรณีมีบ้านอยู่แล้วต้องการรีไฟแนนซ์ สามารถให้เพิ่มรายชื่อผู้กู้ร่วมเป็นกรรมสิทธิบ้านหลังเดิมได้ เพื่อให้มีส่วนร่วมในทรัพย์หลักประกัน โดยจะเน้นการรีไฟแนนซ์สัดส่วน 60% เพราะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ตํ่ากว่าสินเชื่อทั่วไปเกือบ 4 เท่า แม้ราคาและการแข่งขันจะสูงกว่าก็ตาม

สำหรับแนวโน้มความต้องการสินเชื่อบ้านปี 2566 ดีมานด์จะอยู่ในกลุ่มบ้านเดี่ยว ส่วนคอนโดราคา 3-5 ล้านบาทยังมีความต้องการจากต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีนยอดสินเชื่อบ้านน่าจะเติบโตราว 5-6% หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 50,000 ล้านบาท

 นางสาวชลารัตน์ พินิจเบญจพล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทยกล่าวถึงสินเชื่อบ้านในกลุ่ม LGBTQ ว่า  กสิกรไทยพิจารณาการให้สินเชื่อกับลูกค้าทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยพิจารณาตามคุณสมบัติที่เหมาะสมตามข้อกำหนดของธนาคาร อีกทั้งลูกค้าสามารถขอวงเงินสินเชื่อบ้านในลักษณะการกู้ร่วมได้ ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ในฐานะเป็นเพื่อน ซึ่งปี 2566 ธนาคารมีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท

แบงก์ชิงเค้ก LGBTQ+ เพิ่มทางเลือกกู้ร่วม

  • ยูโอบีรุกกลุ่ม3หมื่นบาท

นายยุทธชัย เตยะราชกุล, Head of Personal Financial Services, ธนาคารยูโอบี ประเทศไทยกล่าวว่า ยูโอบีให้ความเท่าเทียมกับลูกค้าทุกราย โดยไม่มีการแบ่งแยกเพศ โดยมองว่า กลุ่ม LGBTQ+ เป็นกลุ่มที่มีรายได้และกำลังซื้อค่อนข้างสูง โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ธนาคารมุ่งเน้นคือ กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทต่อเดือน

 “ด้วยสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะทำให้การตัดสินใจซื้อบ้านใหม่ของลูกค้าช้าลง ยูโอบีจึงมองเห็นโอกาสในการเติบโตของบ้านมือสอง และตลาดรีไฟแนนซ์”นายยุทธชัยกล่าว

 

  • BAYนำร่องคู่เพื่อน

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ปัจจุบันหลายธนาคารเสนอผลิตภัณฑ์กลุ่ม LGBTQ+ เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้ชีวิต ซึ่งธนาคารกรุงศรีเองได้ร่วมกับโครงการพันธมิตรให้ข้อมูลและจัดโปรโมชั่นเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น หลังจากที่กรุงศรีเป็นธนาคารนำร่องในการเสนอสินเชื่อคู่เพื่อนที่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกันโดยไม่จำเป็นต้องเป็นเครือญาติหรือคนในครอบเดียวกันกับผู้กู้อีกต่อไป

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยาก

ที่ผ่านมากรุงศรีได้จับมือพันธมิตรโครงการให้ความรู้ทั้งพนักงานธนาคารและเจ้าหน้าที่โครงการเพื่อเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำลูกค้าเช่น การเตรียมความพร้อมก่อนยื่นกู้ 3-6 เดือน เพื่อไม่สร้างภาระหรือบริหารสภาพคล่องให้เหมาะสมกับความสามารถในการเป็นเจ้าของทรัพย์แต่ละขนาด แต่ละประเภทด้วย

นายณัฐพลกล่าวถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ว่า ปีนี้อาจจะไม่เติบโตมากหรือเลวร้ายอาจจะติดลบ 4-5% จากความกังวลต่อต้นทุนค่าที่ดิน ราคาวัตถุดิบและค่าก่อสร้างซึ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่จะสร้างเสร็จปีนี้จะเป็นต้นทุนใหม่ทั้งหมด เช่น กลุ่มตลาดฐานล่างเดิมราคาเฉลี่ย 1-2 ล้านบาทอาจขยับราคาขึ้น 10-20% ดังนั้นจึงมีเฉพาะกำลังซื้อในประเทศระดับกลางถึงบนที่กลับมาซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป และการแข่งขันจะกระจุกอยู่ในราคา 3-10 ล้านบาท

“แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยทยอยขึ้นไม่มากต่อครั้ง 0.15% จึงไม่เพิ่มภาระในการผ่อนชำระค่างวด แต่จะเห็นว่าราคาบ้านปรับขึ้นเร็วกว่าอัตราดอกเบี้ย ส่วนปีนี้ราคาจะปรับขึ้นต่อหรือไม่ ขึ้นกับต้นทุนต่างๆด้วย” นายณัฐพลกล่าว

  • ทีทีบีเปิดรับทุกกลุ่ม

นายจเร เจียรธนะกานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ทีเอ็มบีธนชาตกล่าวว่า ทีทีบีให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าทุกกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้เปิดรับลูกค้าเพศทางเลือกหรือ LGBTQ+ ให้สามารถขอสินเชื่อในลักษณะการกู้ร่วมได้เช่นกัน ซึ่งมีลูกค้าให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นการขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านเดี่ยวเป็นหลักและเชื่อว่า ยังเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในปีนี้เช่นเดียวกัน

นายจเร เจียรธนะกานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ทีเอ็มบีธนชาต

สำหรับปี 2566 ทีทีบียังคงเดินหน้าสู่ความเป็นหนึ่งในผู้นำด้านสินเชื่อบ้าน ที่มุ่งขยายธุรกิจให้โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าในหลากหลายกลุ่มอย่างตรงใจ ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบ ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม ที่ธนาคารสามารถทำตลาดได้ดีในกลุ่มราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป

รวมถึงกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวสูงที่เป็นคอนโดมิเนียมทั้งราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการรัฐ และราคาเกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักรวมถึงบ้านมือสองน่า จะยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากปีที่แล้ว จากข้อได้เปรียบด้านราคาและตำแหน่งที่ตั้งโครงการ

 ส่วนสินเชื่อรีไฟแนนซ์จะเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าที่ต้องการลดภาระดอกเบี้ยรวมถึงสินเชื่อบ้านแลกเงินก็จะยังคงเป็นหนึ่งในโฟกัสสำหรับลูกค้าที่ต้องการเสริมสภาพคล่อง ซึ่งปี 2566 ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มขึ้น10-15% จากปีก่อนซึ่งที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่ อาศัยใหม่กว่า 60,000 ล้านบาท

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,862 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566