ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์ในเฟสบุ๊กส่วนตัววันที่ 16 มี.ค.กล่าวถึง บทเรียนกรณีธนาคารล้มละลาย ในสหรัฐอเมริกาและปัญหาแบงก์ใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ ที่ชี้ให้เห็นว่า การบริหารนโยบายการเงินและสถาบันการเงินนั้น จะขึ้นดอกเบี้ยแบบกระหน่ำมากๆ และเร็วๆ ไม่ได้ หากย้อนกลับมามองประเทศไทย นับว่าโชคดีที่แบงก์ชาติ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความระมัดระวังในเรื่องนี้มาโดยตลอด
รายละเอียดเนื้อหามีดังนี้ ...
1. กรณีธนาคาร 2 แห่งในสหรัฐฯ ถูกสั่งปิดการดำเนินงาน คือ Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank และยังมีแบงก์เล็กๆ ที่ถูกถอนเงินช่วงสัปดาห์ที่แล้ว และวันนี้ก็มี ธนาคารเครดิตสวิส ใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งหมดมีปัญหาขาดความเชื่อมั่น (Credit confident) จึงถูกแห่ถอนเงิน (Bank run) และราคาหุ้นตกมาก ทั้งนี้ สาเหตุหลักเกิดจากการที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ขึ้นดอกเบี้ยแรงๆเร็วๆ ทำให้ภาคธนาคารและภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน และการบริหารผิดพลาดไม่ระมัดระวังของตัวแบงก์เอง
2. Silicon Valley Bank มีเงินฝาก 175,400 ล้านดอลลาร์ และ Signature Bank มีเงินฝาก 89,000 ล้านดอลลาร์ รวม 264,400 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐ ณ สิ้นปี 2022 มีเงิน 128,218 ล้านดอลลาร์ และคุ้มครองเพียง 250,000 เหรียญฯ แรกต่อบัญชี ไม่เต็มวงเงิน จึงจะทำให้เกิดการถูกแห่ถอนเงิน แล้วแบงก์ต่างๆ อาจล้มเป็นระบบได้
3. รัฐบาลสหรัฐฯ มีกฎหมายให้กระทรวงการคลัง ธนาคารกลาง และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ออกมาตรการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนทุกบัญชีได้ เพื่อให้ประชาชนหยุดแย่งกันถอนเงินไม่ให้แบงก์ล้มเป็นโดมิโน ให้แบงก์ต่างๆ ดำเนินการไปได้ รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ก็ออกมาประกาศจะอุ้มธนาคารเครดิตสวิส จะไม่ปล่อยให้ล้ม
4. เราจะเห็นได้ว่า หากมีภาวะความเสี่ยงที่สถาบันการเงินอาจล้มเป็นระบบ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ตอนนี้ประเทศไทยคุ้มครองไม่เกิน1 ล้านบาทต่อบัญชี) ก็ช่วยไม่ได้ รัฐฯ ต้องพิมพ์เงินมาคืนเงินฝากประชาชนอยู่ดีแล้วไปลดส่วนของทุนแบงก์ที่มีปัญหา ลดส่วนเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่ผู้ฝากเงินและนำทรัพย์สินมาขายชำระหนี้ ส่วนที่ยังขาดทุนก็ให้กองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินฯรับภาระไป ไปเก็บเงินจากระบบแบงก์มาคืนในอนาคต
5. ตอนมีปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ล้มละลายในปี 2008 กระผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้สั่งให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากไทย คุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนทุกบัญชี เพื่อป้องกันไว้ก่อนไม่ให้เกิดการถูกแห่ถอนเงิน ประเทศไทยจึงไม่เกิดปัญหา Bank run ในปี 2551-52
6. แบงก์ SVB ให้กู้และรับฝากเงินจาก Hedge funds, Venture cap, Tech startup จึงมีผู้ฝากเงินรายใหญ่เกินกว่า 250,000 เหรียญจำนวนมาก โดยในช่วงโควิด ได้นำเงินฝากไปลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และพันธบัตรเอกชนที่มั่นคงไว้ ได้ดอกเบี้ย 1.7-1.8%
7. แต่เนื่องจากธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Federal Reserve Bank) รีบขึ้นดอกเบี้ยสูงๆ และเร็วมาก ใน 1 ปีที่ผ่านมา จาก 0.50-75% เป็น 4.50-4.75% จึงทำให้ราคาพันธบัตรฯ ลดลงมาก เมื่อมีคนมาถอนเงินฝาก 2-3 พันล้านเหรียญฯ แบงก์ SVB ก็ต้องขายพันธบัตรเพื่อนำมาคืนเงินฝาก ทำให้ขาดทุนไป 1.8 พันล้านเหรียญฯ
8. จึงมีข่าวแบงก์ SVB ขาดทุน ประชาชนกลัวเงินฝากจะสูญ จึงเกิดการแห่ถอนเงินจากนั้นก็กระจายไปแบงก์อื่นๆและกระจายไปทั่วโลก รัฐบาลสหรัฐฯ จึงใช้มาตรการแรง โดยคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน(ไม่ใช่แค่ 250,000 เหรียญฯ ต่อบัญชี)เพื่อหยุดปัญหาแบงก์ล้มเป็นระบบ
9. เราจะเห็นได้ว่าการรีบขึ้นดอกเบี้ยมากๆ (เพื่อลดเงินเฟ้อ) นอกจากจะลดการจ้างงานและลดอัตราความเจริญเติบโตของประเทศแล้ว ยังทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ล้มลงได้ เช่น แบงก์ SVB ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1983 เกือบ 40 ปีแล้ว กรณี ธนาคารเครดิตสวิส ซึ่งตั้งมาแล้ว 167 ปี ก็เช่นเดียวกัน
10.นอกจากนี้ การขึ้นดอกเบี้ยแรงๆเร็วๆ ยังทำให้ธุรกิจต่างๆ ปรับตัวไม่ทันและล้มลงได้ เพราะต้นทุนขึ้น ยอดขายลด รายได้ลด รัฐบาลจึงควรระมัดระวัง อย่าให้ธนาคารกลางใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยมากๆเร็วๆ โดยคิดไม่รอบคอบเพราะ "การปรับตัวใดๆ ต้องใช้เวลา ควรค่อยเป็นค่อยไป"
11.เมื่อปีที่แล้ว 2565 นักการเงินไทยหลายคน ออกมาเรียกร้องให้แบงก์ชาติไทยรีบขึ้นดอกเบี้ยมากๆ เร็วๆ ตามสหรัฐฯ หากแบงก์ชาติไทยได้ทำตาม เราคงเห็นระบบการเงินและสถาบันการเงินไทยมีปัญหาการแห่ถอนเงินฝาก และอาจล้มลงได้ครับ "The financial sector must always be prudent" ดร.สุชาติ กล่าวในที่สุด