นักลงทุนแห่ซบตลาดเอเชีย เชื่อปลอดภัย-ไม่กระทบจากวิกฤตแบงก์สหรัฐ

08 เม.ย. 2566 | 19:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2566 | 23:41 น.

ซิตี้แบงก์เปิดเผยผลการวิเคราะห์ภาวะการเงินทั่วโลกพบว่า ตลาดการเงินเอเชียได้รับผลกระทบจากวิกฤตธนาคารน้อยกว่าในสหรัฐ และสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

 

บรรดา นักลงทุน พากันเข้าลงทุนใน ตลาดเอเชีย เพราะเชื่อว่า จีนและประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มน้อยกว่า ที่จะได้รับผลกระทบจาก วิกฤตธนาคารในสหรัฐอเมริกา โดย พวกเขาคิดว่าการลงทุนในสินทรัพย์ในตลาดเอเชียนั้นเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย

ผลการวิเคราะห์ภาวะการเงินทั่วโลกของ ซิตี้แบงก์ ยังพบว่า สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นกลุ่มการเงินในเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ของสหรัฐถูกทางการสั่งปิดการดำเนินงาน ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารของสหรัฐร่วงลงเกือบ 10% ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น

โจฮันนา ชัว กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและตลาดเอเชียแปซิฟิกของซิตี้แบงก์กล่าวว่า "เราคิดว่าเอเชียยังคงได้รับการปกป้องที่ค่อนข้างดี การชะลอตัวโดยมีสหรัฐเป็นศูนย์กลางนั้นหมายความว่า เงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลง ซึ่งจะสนับสนุนให้มีเงินทุนไหลเข้าเอเชียมากยิ่งขึ้น"

ในวันที่ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ของสหรัฐถูกทางการสั่งปิด ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารของสหรัฐร่วงลงเกือบ 10%

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า เหตุผลที่ภูมิภาคเอเชียเป็นแหล่งลงทุนที่ดีกว่าภูมิภาคอื่น ๆ นั้น ก็เพราะธนาคารกลางจำนวนมากในประเทศออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และอินเดียได้ยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะจีนกลายเป็นแหล่งลงทุนที่ดึงดูดนักลงทุนมากที่สุด เนื่องจากมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย และเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคโควิด-19 หลังการเปิดประเทศ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ข้อมูลจาก ทีดี ซีเคียวริตี้ บ่งชี้ว่า มีเงินทุน 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐไหลเข้าสู่กองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ในช่วง 4 สัปดาห์จนถึงสิ้นเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งนำโดยตลาดในภูมิภาคเอเชีย และมากกว่า 70% ของเงินทุนดังกล่าวนั้นไหลเข้าสู่ตลาดจีน

ในขณะเดียวกัน หุ้นของตลาดที่พัฒนาแล้วมีเงินทุนไหลออกสุทธิ 8,600 ล้านดอลลาร์ โดยตลาดสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบหนักที่สุด

วิกฤตแบงก์ล้มฉุดยอดปล่อยกู้ในสหรัฐลดฮวบ

วิกฤตแบงก์ล้มในสหรัฐ นอกจากจะทำให้เกิดเงินทุนไหลออกจากสหรัฐแล้ว ยังทำให้การปล่อยกู้ของธนาคารสหรัฐลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมี.ค.อีกด้วย บ่งชี้ถึงภาวะ “สินเชื่อตึงตัว” หลังการล้มละลายของธนาคารในสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐลดลงเกือบ 1.05 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 2 สัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 29 มี.ค. ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดเมื่อพิจารณาจากข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ย้อนหลังไปจนถึงปี 2516 โดยการปล่อยกู้ที่ลดลงในสัปดาห์ล่าสุดจำนวนมากกว่า 45,000 ล้านดอลลาร์นั้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการปล่อยเงินกู้ที่ลดลงของบรรดาธนาคารขนาดเล็ก

การปล่อยเงินกู้ที่ลดลงในช่วงครึ่งหลังของเดือนมี.ค.นั้น ส่งผลกระทบกับเงินกู้ประเภทต่าง ๆ อาทิ เงินกู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเงินกู้เพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การปล่อยกู้ที่ลดลงในสหรัฐนั้น เกิดขึ้นหลังจากการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ระดับภูมิภาคในสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (6 เม.ย.) ดัชนีภาวะสินเชื่อของสมาคมธนาคารอเมริกัน (American Bankers Association) ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดโรคโควิด-19 ระบาด ซึ่งบ่งชี้ว่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์ด้านการธนาคารคาดว่า ภาวะสินเชื่อจะอ่อนแอลงในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งส่งผลให้ธนาคารต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ

นอกจากนี้ รายงานของเฟดที่เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (7 เม.ย.) ยังบ่งชี้ด้วยว่า เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ลดลง 64,700 ล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ล่าสุด ซึ่งนับว่าลดลงมาแล้วเป็นสัปดาห์ที่ 10 ติดต่อกัน