ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวม (รัฐ+เอกชน) ปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท หดตัวในช่วง -2.0% ถึง -1.0% (YoY) เป็นผลหลักจากเม็ดเงินลงทุนก่อสร้างภาครัฐที่น่าจะหดตัว เนื่องจากอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่อาจทำให้การเบิกจ่ายและการเดินหน้าโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐมีความล่าช้าหรือถูกเลื่อนออกไปอาจไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในปีนี้ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว จากแรงหนุนบางส่วนของการก่อสร้างโครงการเชิงพาณิชย์ในจังหวัดสำคัญๆ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว
ความไม่แน่นอนทางการเมือง ทั้งช่วงเวลาที่จะจัดตั้งรัฐบาลใหม่และการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสำคัญไปจากเดิม จะกระทบต่อการพิจารณางบประมาณประจำปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนของภาครัฐตามงบประมาณประจำปี 2567 เลื่อนออกไปหรือไม่สามารถเริ่มเบิกจ่ายได้ทันภายในปีนี้ จากที่ปกติจะเริ่มในเดือนตุลาคมของทุกปี โดยเฉพาะงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐที่มีการลงทุนก่อสร้างต่างๆ เช่น กระทรวงคมนาคม (โครงการโครงสร้างพื้นฐาน)กระทรวงมหาดไทย (โครงการรายจังหวัด ภูมิภาค) แม้ว่าโครงการบางส่วนและโครงการที่เป็นงานผูกพันอาจใช้งบประมาณประจำปี 2566 ไปพลางก่อนได้
ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 ( ม.ค.-มี.ค.) จะมีการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณปี 2566 เพิ่มขึ้นประมาณ 20% (YoY) ทั้งจากงบประมาณรายจ่ายลงทุนที่เพิ่มขึ้นและการเร่งรัดเบิกจ่ายในช่วงสุดท้ายก่อนการยุบสภาฯ ซึ่งคงจะเป็นแรงหนุนมูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ให้ขยายตัวได้
เบิกจ่ายงบภาครัฐล่าช้า
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วง เม.ย. จนถึงกำหนดจัดตั้งรัฐบาลใหม่ตามแผนเบื้องต้น คือ ก.ค.-ส.ค. 2566 หรือจนกว่าจะมีการจัดตั้งสภาฯ ได้นั้น การเดินหน้าโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวพันกับการเบิกจ่ายงบของภาครัฐ (แม้จะมีงบประมาณปี 2566 อยู่แล้ว) ในบางส่วนหรือในบางโครงการ ก็อาจจะมีความล่าช้าได้บ้างกว่าภาวะปกติเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลคะแนนการเลือกตั้งว่าแกนนำรัฐบาลจะสามารถรวบรวมเสียง ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะส่งผลต่อการพิจารณางบประมาณ ปี 2567 ตลอดจนการผ่านกฎหมายสำคัญ ที่อาจทำให้การเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปีล่าช้ากว่าปกติได้ และอาจมีการทบทวนโครงการก่อสร้างภาครัฐตามการจัดสรรงบประมาณใหม่
ลงทุนก่อสร้างภาครัฐคาดหด 2.5-3.5%
ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐน่าจะหดตัวในช่วง -3.5%ถึง -2.5% YoY ซึ่งบางปีที่มีการเลือกตั้งในอดีต เช่น ปี 2554 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐก็หดตัวเช่นกัน
ส่วนเม็ดเงินลงทุนก่อสร้างจากเอกชนในปี 2566 ก็ยังมีการลงทุนก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ทั้งโครงการ Mixed-use และการฟื้นฟูกิจการโรงแรมและค้าปลีก เพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดสำคัญๆ แม้การก่อสร้างโครงการที่พักอาศัยอาจยังให้ภาพที่ระมัดระวังท่ามกลางสภาพตลาดที่ยังมีความกังวลด้านกำลังซื้อและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
ขณะที่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ Public-Private Partnership (PPP) ที่ดำเนินการต่อเนื่องตามสัญญาที่ได้ผูกพันไว้แล้ว บางส่วนน่าจะเดินหน้าก่อสร้างต่อได้ แต่บางส่วนอาจมีความล่าช้าหรือต้องหยุดโครงการชั่วคราว ตลอดจนโครงการใหม่ๆ ที่ต้องรอการพิจารณาของภาครัฐก็อาจไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในปีนี้ ทำให้มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวที่ 0.0% - 1.0% (YoY)
ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแต่ละรายน่าจะได้รับผลกระทบจากมูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวมที่อาจหดตัว ในระดับที่แตกต่างกัน และยังมีแรงกดดันด้านต้นทุน ทั้งราคาวัสดุก่อสร้างที่อยู่ในระดับสูงและแนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำที่อาจปรับสูงขึ้น
ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง-ค่าแรง กระทบ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวม (รัฐ+เอกชน) ปี 2566 ที่อาจหดตัว น่าจะกระทบรายได้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในปีนี้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานภาครัฐใหม่ๆ และโครงการตามงบประมาณประจำปี อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้า แม้ว่าผู้ประกอบการจะยังมีงานในมือคงเหลือ (Backlog) แต่ก็ยังต้องติดตามประเด็นการเมืองและนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมีผลต่อการเดินหน้าโครงการก่อสร้างตามแผน ซึ่งอาจมีเงื่อนไขในรายละเอียดที่แตกต่างกันไป
ทั้งนี้ นอกจากด้านรายได้แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผู้ประกอบการก็ยังมีแรงกดดันด้านต้นทุน ทั้งราคาวัสดุก่อสร้างและนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่มีสัดส่วนรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของต้นทุนรวม ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนและมีประเด็นที่ต้องติดตาม ดังนี้
ราคาวัสดุก่อสร้างรายการหลักในปี 2566 โดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก คาดว่าจะยังยืนตัวสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 เป็นผลหลักจากต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบที่ยังยืนสูงตลอดจนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการปรับตัวสู่อุตสาหกรรมสีเขียวตามเทรนด์ความยั่งยืน
นอกจากนี้ ก็ยังต้องติดตามการกลับมาของเศรษฐกิจจีนที่อาจหนุนให้ราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในประเทศ 4 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 1.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงที่เหลือของปีมีปัจจัยทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างที่แม้ว่าจะยังยืนในระดับสูง แต่คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงานที่น่าจะอ่อนตัวลงจากปีที่แล้ว และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้อุปสงค์ในตลาดโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
นอกจากนี้ สินค้าเหล็กก็มีประเด็นการทบทวนความจำเป็นในการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) ของเหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีน มาเลเซีย บราซิล อิหร่าน และตุรกี2 และเหล็กแผ่นรีดเย็นจากจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน3 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์และกำหนดแล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังวันที่มีผลบังคับใช้สิ้นสุดลง หากมีการยกเลิกมาตรการ AD น่าจะส่งผลให้ราคานำเข้าเหล็กย่อลง และกระทบต่อการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศ
ค่าแรงขั้นต่ำ เป็นประเด็นที่กระทบต่อการจัดการต้นทุนของธุรกิจก่อสร้างค่อนข้างมาก เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ในภาคก่อสร้างเป็นกลุ่มแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างรายวัน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำที่อาจสูงขึ้นตามค่าครองชีพและนโยบายค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายน่าจะเป็นการทยอยปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยยังต้องพิจารณาต้นทุนอื่นๆ ของธุรกิจ ช่วงเวลาและอัตราการปรับขึ้นประกอบด้วย
ทั้งนี้ ต้นทุนการก่อสร้าง 2 ปัจจัยข้างต้นที่ยังอยู่ในระดับสูง และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น จะกระทบต่อการเสนอราคาโครงการก่อสร้างในอนาคตที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณาความเสี่ยงและความคุ้มค่าในการลงทุน
ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างบางส่วนที่สัญญาอาจไม่ครอบคลุมต้นทุนส่วนเพิ่ม ผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับภาระต้นทุนในส่วนนี้ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจในระยะข้างหน้า