EXIM BANK แนะเอสเอ็มอีส่งออกทำประกัน ลดความเสี่ยง

07 มิ.ย. 2566 | 10:19 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2566 | 10:19 น.

EXIM BANK เผยโควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบธุรกิจล้มละลายพุ่ง 14% แนะเอสเอ็มอีอำนาจต่อรองต่ำทำประกันส่งออกบริหารความเสี่ยง ชี้ที่ผ่านมาแบงก์จ่ายสินไหมทดแทนช่วยผู้ประกอบการกว่า 1.4 ล้านบาท

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในงานสัมนา  “EXIM Thailand and NEXI Collaboration: A New Chapter Begins” ร่วมกับองค์กรรับประกันแห่งประเทศญี่ปุ่น (Nippon Export and Investment Insurance : NEXI) ว่า จากการคาดการณ์ขององค์กรรับประกันชั้นนำของโลก พบว่า​ โควิดและสงครามในรัสเซียกับยูเครน​ ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ​ทำให้ธุรกิจล้มละลายเพิ่มสูงขึ้น 14%  เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา​

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

โดยผู้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะเอสเอ็มอี  ซึ่งมีอำนาจต่อรองต่ำและเงินทุนหมุนเวียนไม่มากนัก​จึงควรต้องบริหารความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระค่าสินค้า​  ด้วยการกระจายตลาดไปยังตลาดที่ยังเติบโตหรือมีกำลังซื้อสูง​ เช่น ตลาดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง​ เอเชียใต้​ เป็นต้น​ รวมทั้งการใช้เครื่องมือประกันการส่งออกในการบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าว

 

ทั้งนี้ EXIM BANK ได้ดำเนินธุรกิจให้บริการประกันการส่งออกตั้งแต่เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในปี 2537 มีปริมาณธุรกิจรับประกันการส่งออกสะสมจำนวน 1.82 ล้านล้านบาท ยอดจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนรวมประมาณ 1,400 ล้านบาท

โดย 76% เกิดจากกรณีผู้ซื้อในต่างประเทศปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า รองลงมาประมาณ 23% เกิดจากผู้ซื้อล้มละลาย และอีก 1% เกิดจากผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า

ส่วนประเทศที่มีมูลค่ายื่นขอรับสินไหมทดแทนสูงสุด ได้แก่

  • สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  • สหรัฐอเมริกา
  • สิงคโปร์

ด้านสินค้าที่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุด ได้แก่ ข้าว อัญมณีและเครื่องประดับ และอะลูมิเนียม

นายรักษ์  กล่าวอีกว่า ก้าวใหม่ความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK และ NEXI ในโลกการค้ายุคใหม่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน ทั้งบริการประกันการส่งออกและการลงทุน และการรับประกันต่อ เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น ขยายผลสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในภูมิภาคเอเชียร่วมกัน