นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ของคนไทย เป็นเกษตรกร และหนี้ส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของธ.ก.ส. ดังนั้นจึงมอบหมายให้ธ.ก.ส. เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร เช่น การขยายงวดชำระหนี้ การชำระหนี้ตามความสามารถ ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้การบริหารจัดการเงิน
“การเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร ส่งผลให้ธ.ก.ส.มีปัญหาหนี้เสีย (NPL) จากเมื่อต้นปี2565 สัดส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 12% แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 7% และในปี2566 ตั้งเป้าหมายว่าธ.ก.ส.จะมีสัดส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 3-4% โดยมั่นใจหนี้เสียจะลดลงได้อย่างแน่นอน ด้วยการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่สาขาทั่วประเทศ ติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด"
สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ต้องทำควบคู่กันไประหว่างการปรับโครงสร้างหนี้และหารายได้เพิ่ม ซึ่งต้องทำต่อเนื่อง เช่น การปลูกทุเรียน มะม่วง ลำไย กาแฟ กล้วยหอม เป็นต้น แต่สามารถปลูกพืชระยะสั้นได้ เช่น การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งโรงพยาบาลเกือบทั่วประเทศต้องการ
ทั้งนี้ การปลูกพืชระยะสั้นสร้ายรายได้ สามารถกู้สินเชื่อได้ เพราะธ.ก.ส.มีโครงการเติมสินเชื่อให้เกษตรกรรายละ 100,000-200,000 บาท
ขณะเดียวกันได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงิน หลังจากมีรายได้จากอาชีพเสริม แบ่งสัดส่วนรายได้ 50% ชำระหนี้ อีก 40% เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และ 10% สบทบทุนวิสาหกิจชุมชน ที่เป็นตัวแทนในการช่วยเหลือด้านการตลาดสำหรับจำหน่ายสินค้าเกษตร ซึ่งจะทำให้เกษรกรอยู่ได้ และสามารถลดภาระหนี้สินได้ด้วย