ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ยังคงจุดยืนการทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน จึงเกิดการเทขายเงินเยนออกมา ส่งผลให้เงินเยนเมื่อเทียบเงินบาทอ่อนค่าทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ทำสถิติอ่อนค่าสุดที่ระดับ 24.27 บาทต่อ 100 เยน
นางสาวชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ ประธานกรรมการ บริษัท ทเวลฟ์ วิคทอรี่ เอ็กเชน จำกัดเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปริมาณธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศหน้าเคาน์เตอร์ของทเวลฟ์ฯ รวม 32 บริษัทพบว่า เดือนกุมภาพันธ์ ปริมาณธุรกรรมซื้อเพิ่มขึ้น 41.15% จากเดือนมกราคม แต่ 2 เดือนถัดมาคือมีนาคมและเมษายน ปริมาณธุรกรรมซื้อปรับลดลง 18.22% และ 8.22% ตามลำดับ แต่แนวโน้มในครึ่งปีหลังยังมีสัญญาณบวก
“ตอนนี้คนใช้เงินฮ่องกงดอลลาร์มาก เพราะมีแคมเปญลดราคาทั้งเกาะ ส่วนเงินเยนเป็นลักษณะการจองซื้อ เพื่อเตรียมท่องเที่ยวปลายปี ส่วนไต้หวันดอลลาร์ขาดตลาดในบางช่วง ขณะที่ริงกิตถือว่า สถานการณ์ปกติ เพราะใช้สำหรับการค้าชายแดนอยู่แล้ว” นางสาวชนาพรกล่าว
นางสาวชนาพร กล่าวว่าเงินเยนได้รับความนิยมมากในปีนี้ สาเหตุจากราคาตกลงมามาก แต่เป็นลักษณะจองซื้อ เพราะเป็นช่วงโลซีซัน รองลงมาดอลลาร์ไต้หวัน เนื่องจากไต้หวันส่งเสริมการท่องเที่ยวค่อนข้างหนัก โดยแจกคูปอง 5,000 ดอลลาร์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่เช็คอินที่สนามบิน เพียงสแกน boarding pass สามารถกดรับคูปองได้เลย
ถัดมาเป็นดอลลาร์ฮ่องกง กับเงินวอน โดยฮ่องกงได้รับแรงสนับสนุนจากกรุ๊ปทัวร์สายมูด้วย ขณะที่เกาหลีเริ่มมีนักท่องเที่ยวพลิกกลับมา หลังจากชะลอตัวไปก่อนหน้า เนื่องจากมาตรการจำกัดผีน้อย จึงเข้มงวดที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่แนวโน้มน่าจะค่อยๆผ่อนคลายลง โดยปัจจุบันเริ่มผ่อนคลายสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีกับผู้สูงอายุที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป
สำหรับอีก 3 สกุลเงินคือ ด่อง ดอลลาร์สิงคโปร์ ดอลลาร์สหรัฐ โดยเวียดนามยังคงโปรโมทท่องเที่ยวเวียดนามกลาง ส่วนดอลลาร์สหรัฐเป็นการซื้อจ่ายค่าเงินสินค้าและดอลลาร์อ่อนค่า และสิงคโปร์ดอลลาร์ก็เป็นอีกหนึ่งสกุลเงินของกรุ๊ปทัวร์ และปีนี้เริ่มมีสัญญาณคนไทยสนใจท่องเที่ยว “ตุรกี” เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งประเทศด้วย
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นหยวน ริงกิต ดอลลาร์ไต้หวัน หรือดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) จะเคลื่อนไหวทิศทางใกล้เคียงกับเงินบาท เพราะปัจจับพื้นฐานคล้ายกันและจะผูกกับภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนด้วย
หากเทียบจากนักวิเคราะห์ประเมิน เงินบาทอาจจะแข็งค่ากว่า “ริงกิต” เกือบ 1% ขณะที่เงินบาทอาจจะแข็งค่ากว่าดอลลาร์ไต้หวัน 1% ซึ่งสามารถแลกซื้อเงินได้ถูกลง 1% แต่บาทมีโอกาสจะแข็งค่ากว่าเงินปอนด์ประมาณ 4.3% ซึ่งตลาดมีมุมมองว่า แม้ธนาคารกลางอังกฤษจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบ้าง แต่ไม่ได้ส่งผลให้เงินปอนด์แข็งค่านัก ขณะที่เงินบาทจะแข็งค่ากว่าเงินยูโรประมาณ 1.3% หากเทียบเงินบาทประมาณ 38 บาทต่อ 1 ยูโร ส่วนเงินปอนด์ 44.3 บาทไม่ได้แพงมาก
สำหรับไฮไลต์ค่าเงินเยนนั้น นักวิเคราะห์ยังมองว่า เงินเยนมีโอกาสจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท
เกือบ 6% ถ้าจะไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงปลายปี สามารถแลกซื้อเงินเยนสะสมได้ตั้งแต่ตอนนี้ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนจะถูกลงโดยการขายออกจะอยู่ที่ประมาณ 24 บาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างถูกมากแล้ว
“มองไปข้างหน้าต้องลุ้นปัจจัยในไทยคือ ช่วงสั้น เงินบาทจะแข็งค่า ส่วนเยนยังไม่เปลี่ยนอาจจะอยู่ที่ 144 หรือ 135 เยนต่อดอลลาร์ และปลายไตรมาส 3-4 อาจจะเห็นเงินเยนขยับ เพราะมองว่า ญี่ปุ่นอาจจะส่งสัญญาณปรับนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจทำให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงและเงินเยนอาจจะแข็งค่าขึ้นได้ โดยตลาดมอง ค่าเงินเยนสิ้นปี 133 เยนต่อดอลลาร์แข็งค่าเกือบ 8% หรือคิดเป็นเงินบาทเท่ากับ 25.4 บาทต่อ 100 เยน
ทั้งนี้ มองการเมืองไทยอาจยังไม่แน่นอนและปัจจัยฝั่งสหรัฐ โอกาสจะเห็นเงินบาทกลับมาอ่อนค่าแตะ 35 บาทต่อดอลลาร์ และหากสถานการณ์การเมืองไทยดีกว่าที่คิด โอกาสจะเห็นเยนต่อบาทต่ำกว่า 24 บาทได้อีกแต่อาจจะไม่ลงลึกมา
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,903 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2566