“หนี้ครัวเรือน” เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการหยิบยกมาหารือในที่ประชุมร่วม 8 พรรคร่วมรัฐบาล ทั้งหนี้้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ด้วยสร้างแรงจูงใจในการชำระคืนและช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งการลดค่าปรับเน้นการลดเงินต้น มากกว่าดอกเบี้ย การแก้ไขปัญหาหนี้ข้าราชการ ครู และตำรวจ ที่มีรายรับไม่พอรายจ่าย ไม่มีโอกาสได้รับเงินตอบแทนที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต
ทั้งนี้ที่ประชุมร่วม 8 พรรคร่วมมีการเสนอให้กรมบัญชีกลางรวบรวมข้อมูลและพิจารณาการหักเงินเดือน เพื่อชำระเงินกู้ โดยจะต้องให้มีเหลือสำหรับใช้จ่ายชีวิตประจำวัน ไม่ต่ำกว่า 30% ของเงินเดือน และให้สามารถชำระเงินต้นเงินกู้ได้ เพื่อลดยอดเงินกู้
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคาร ออมสินเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ออมสินมีการผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ และครูอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีโครงการดูแลครอบคลุมได้แก่
ขณะที่นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)กล่าวว่า ที่ผ่านมา กยศ.มีการดำเนินมาตรการสร้างแรงจูงใจให้กับลูกหนี้มาโดยตลอด โดยกยศ.มีการสร้างวินัยทางการเงินและสร้างจิตสำนึกในการชำระเงินคืนกองทุนอยู่แล้ว และพร้อมดูแลลูกหนี้ให้มีความสามารถในการชำระหนี้
ส่วนมาตรการดูแลลูกหนี้ของกยศ.ที่สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 นั้น เป็นมาตรการชั่วคราวที่ออกมาดูแลผู้กู้ตั้งแต่ช่วงโควิดแพร่ระบาด เมื่อพ้นสถานการณ์มาตรการก็สิ้นสุดลง แต่ในอนาคตก็ต้องมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะนำกลับมาใช้อีกหรือไม่
แนวโน้มในการชำระหนี้กยศ. ตามรอบปี 2566 ที่จะครบกำหนดวันชำระหนี้ 5 กรกฎาคมนี้ คาดว่าจะมีผู้กู้ชำระหนี้ประมาณ 5,000-7,000 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบจากโควิดส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมลดลง อย่างไรก็ตาม มองว่าเมื่อพ้นจากสถานการณ์โควิดแล้วสถานการณ์การชำระหนี้จะกลับมาเป็นปกติเช่นเดิม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาลูกหนี้ก็ทยอยผ่อนชำระหนี้รายเดือนอยู่แล้วตามการหักเงินผ่านบัญชีเงินเดือนของผู้กู้ ทั้งพนักงานข้าราชการและเอกชน ไม่ได้จ่ายคราวเดียวเป็นก้อน อย่างไรก็ตาม ผู้กู้บางรายที่ไม่ไหว ก็มีมาตรการดูแลด้วยการขอลดผ่อนชำระหนี้รายเดือนลงเหลือเดือนละ 100 บาทได้
ด้านนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ธปท.ได้ปรับปรุงข้อมูลหนี้ครัวเรือนใหม่ โดยนำข้อมูลสินเชื่อและหนี้เดิมที่มีอยู่แล้วมารวม เพื่อให้ครบถ้วนมากขึ้น ไม่ใช่แค่หนี้ที่เกิดใหม่เท่านั้น ทำให้เมื่อรวมแล้ว ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 ยอดหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 86.3%
ซึ่งหลักๆมาจากหนี้กยศ. ซึ่งมีมานานแล้ว,หนี้สหกรณ์อื่นและการเคหะแห่งชาติ แต่สัญญาณหนี้ครัวเรือนทยอยปรับลดลงตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น
“ธปท.ยํ้าว่า สัดส่วนหนี้ 90.6% ต่อจีดีพีนั้น เป็นสิ่งที่เป็นปัญหากับระบบสถาบันการเงินไทยมานานแล้ว จึงไม่ได้เพิ่งมากังวล เพราะเมื่อพิจารณาองค์ประกอบหนี้ครัวเรือนแล้วพบว่า ส่วนใหญ่คือ 73% จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธปท.และอีก 27% อยู่กับหน่วยงานอื่น เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งอยู่กับนอนแบงก์หรือสินเชื่อที่อยู่กับสหกรณ์และกยศ.”นางสาวสุวรรณีกล่าว
สำหรับสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน ล่าสุดพบว่า ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจุดสูงสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่มี 4.7 ล้านบัญชี ปัจจุบันทยอยลดเหลือ 4.4 ล้านบัญชี ยอดหนี้ลดลงประมาณ 1 แสนล้านบาท จากยอด 4 แสนล้านบาทเหลือ 3 แสนล้านบาท โดยเป็นการปรับลดลง โดยเฉพาะมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในกลุ่มลูกหนี้ของสถาบันการเงินของรัฐ(SFIs) ซึ่งลูกหนี้บางกลุ่มได้รับความช่วยเหลือแล้ว
“ลูกหนี้ที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ของแบงก์รัฐ เป็นสินเชื่อมาตรการนโยบายรัฐ วงเงินกู้ไม่เกิน 1 หมื่นบาท ซึ่งปัจจุบันถ้าลูกหนี้ประสบปัญหาสามารถติดต่อแบงก์รัฐ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ได้”
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,902 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2566