SME D Bank ห่วงลูกหนี้มีปัญหา 3 หมื่นล้านบาท

12 ก.ค. 2566 | 04:18 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2566 | 04:18 น.

SME BANK หวั่นลูกหนี้มีปัญหา 3 หมื่นล้านบาท คาด 2 พันล้านเป็นหนี้เสียช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมนโยบายตั้งสำรองเพิ่ม รับมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(SME D Bank) เปิดเผยว่า ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ธนาคารได้เติมทุนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขาดสภาพคล่องไปราว 1.58 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ปี 63 จำนวน 4.2 หมื่นล้านบาท ปี 64 จำนวน 4.8 หมื่นล้านบาท และ ปี 65 จำนวน 6.8 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ได้กลายเป็นลูกหนี้ที่กำลังจะมีปัญหาราว 3 หมื่นล้านบาท

“ใน 3 หมื่นล้านบาทนี้ มีหนี้ที่จัดอยู่ในกลุ่มสีเหลือง คือ กลุ่มที่กลับมาชำระหนี้ได้บางส่วนหรือชำระหนี้ไม่เต็มจำนวนที่ต้องจ่ายอยู่ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท และที่น่ากังวลจริงๆ จะมีอยู่ประมาณ 2 พันล้านบาท ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งจะไปต่อไม่ได้ในครึ่งหลังของปีนี้”

อย่างไรก็ดี ในส่วนนี้แบงก์ก็มีสำรองรองรับ และในปี 66-67 เราก็มีนโยบายที่จะตั้งสำรองเพิ่ม โดยทยอยใส่เงินเดือนละ 100 ล้านบาท รองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 68

ขณะที่ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อของธนาคารมีอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีหนี้เสียอยู่ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้เสียที่เกิดก่อนปี 58 อยู่ประมาณ 7 พันล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 3-4 พันล้านบาท เป็นหนี้เสียที่เกิดขึ้นใหม่ ฉะนั้น ถือว่า หลังจากที่ธนาคารออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว มีหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นใหม่ในหลักพันล้านบาทเท่านั้น

“ถือว่า หลังออกจากแผนฟื้นฟู เรามีหนี้เสียเพิ่มในหลักพันล้านเท่านั้น จากที่ปล่อยประมาณ  6 แสนล้านบาท แต่ว่า ถามว่า เราจะรู้สึกดีไหม ก็ไม่ เพราะเอสเอ็มอียังอ่อนแอ ซึ่งเราจะต้องประคับประคองต่อไป”

สำหรับภาพรวมการปล่อยสินเชื่อครึ่งแรกของปีนี้นั้น ถือว่า ดีกว่าครึ่งแรกของปีก่อนเล็กน้อย โดยยอดปล่อยอยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท ทั้งปีคาดว่าจะปล่อยได้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่ปล่อยได้ 6.8 หมื่นล้านบาท

"ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ไม่ได้เป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุน ซึ่งเราอยากเห็นสินเชื่อเพื่อการลงทุนมากกว่านี้ ก็คาดว่า หากการเมืองมีความชัดเจน การลงทุนใหม่จะดีขึ้น"