แบงก์ชาติ เผยยอดแอปดูดเงินช่วง ธ.ค.65-มิ.ย.66 แตะ 1,152 ล้าน

13 ก.ค. 2566 | 07:19 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2566 | 07:20 น.

แบงก์ชาติ เร่งเดินหน้ามาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน สั่งทุกสถาบันการเงินปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกัน ยอดความเสียหายจาก “แอปดูดเงิน” เดือน ธ.ค. 65 - มิ.ย. 66 แตะ 1,152 ล้านบาท

น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้ออกมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 66 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงินทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกันในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมทางการเงิน 

ทั้งการป้องกัน การตรวจจับ และการตอบสนอง และรับมือ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนได้รวดเร็ว และครอบคลุมมากขึ้น ขณะที่ยอดตัวเลขความเสียหายจาก "แอปดูดเงิน" ยังมีอยู่

ความเสียหายจาก แอปดูดเงิน ช่วง ธ.ค. 65 - มิ.ย. 66 

  • เดือน ธ.ค. 65 จำนวน 182 ล้านบาท
  • เดือน ม.ค.66 จำนวน 185 ล้านบาท
  • เดือน ก.พ. 66 จำนวน 161 ล้านบาท
  • เดือน มี.ค.66 จำนวน 135 ล้านบาท
  • เดือน เม.ย.66 จำนวน 116 ล้านบาท
  • เดือน พ.ค.66 จำนวน 200 ล้านบาท
  • เดือน มิ.ย.66 จำนวน 173 ล้านบาท

รวม 1,152 ล้านบาท

น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ

ทั้งนี้ ธปท. ได้ติดตามให้สถาบันการเงิน ทุกแห่งดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นไปตามแผน

1. มาตรการป้องกัน หลายมาตรการสถาบันการเงินทุกแห่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 

  • การยกเลิกแนบลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล และการยกเลิกแนบลิงก์ขอข้อมูลสำคัญผ่านโซเชียลมีเดีย
  • การจำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งาน mobile banking (username) ของแต่ละสถาบันการเงินให้ใช้ได้ใน 1 อุปกรณ์ 
  • การพัฒนาระบบความปลอดภัยบน mobile banking ให้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่

นอกจากนี้ หลายมาตรการสถาบันการเงินส่วนใหญ่ดำเนินการแล้ว และจะเสร็จทุกแห่งภายในสิ้นปี 2566 

  • การแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ mobile banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง 
  • การกำหนดเพดานวงเงินถอน/โอนสูงสุดต่อวัน ให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการแต่ละประเภท 
  • การประเมินความตระหนักรู้ต่อภัยทุจริต (awareness test) 
  • การยกระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วย biometrics โดยการสแกนใบหน้าเมื่อเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการทำธุรกรรมผ่าน mobile banking เช่น โอนเงินมากกว่า 50,000 บาทต่อครั้ง หรือ 200,000 บาทต่อวัน 
  • ปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป 

2. มาตรการตรวจจับ สถาบันการเงินทุกแห่งเริ่มดำเนินการแล้วในการกำหนดเงื่อนไขการตรวจจับและติดตามธุรกรรมที่เข้าข่ายผิดปกติ หรือกระทำความผิด และรายงานไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ขณะที่ระบบตรวจจับและติดตามบัญชีหรือธุรกรรมต้องสงสัยแบบทันที เพื่อให้การระงับธุรกรรมเป็นการชั่วคราวเมื่อตรวจพบทำได้เร็วขึ้น อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2566

3. มาตรการตอบสนองและรับมือ สถาบันการเงินทุกแห่งจัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (hotline) ตลอด 24 ชั่วโมงแยกจากช่องทางให้บริการปกติ เพื่อให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุได้เร็ว รวมทั้งดูแลผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งเพื่อให้การจัดการภัยทางการเงินมีประสิทธิผล และเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ธปท. จึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานปปง. สำนักงาน กสทช. และสมาคมธนาคารไทย ผลักดันการดำเนินการให้สอดคล้องตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 

โดยภาคธนาคารได้ยกระดับให้สถาบันการเงิน มีกระบวนการรับแจ้งเหตุ 24 ชั่วโมง และระงับธุรกรรมชั่วคราวไว้ 72 ชั่วโมง เพื่อช่วยตัดตอนเส้นทางการเงิน พร้อมทั้งมีกระบวนการ และพัฒนาระบบกลางแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีและธุรกรรมที่ต้องสงสัยระหว่างสถาบันการเงิน ด้วยกัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยลดความเสียหายต่อทรัพย์สินประชาชน และช่วยจัดการบัญชีม้า โดยในส่วนของกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันยังคงร่วมกันเร่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การจัดการปัญหาทำได้เร็วยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตามมาตรการจัดการภัยทางการเงินของไทยดังกล่าวมีความสอดคล้องตามมาตรฐานสากล และการดำเนินการของสถาบันการเงินในต่างประเทศ 

สำหรับการจัดการภัยทางการเงินได้อย่างเบ็ดเสร็จ ต้องบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหาได้ต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และความปลอดภัยในการใช้บริการทางการเงินออนไลน์ให้ประชาชน 

รวมทั้งความร่วมมือของประชาชนที่ให้ความสำคัญกับรูปแบบและการป้องกันภัยทางการเงินที่มีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้เท่าทันภัยรูปแบบใหม่ๆ โดยไม่คลิกลิงก์ที่ไม่น่าเชื่อถือ หลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงิน อัปเดตระบบปฏิบัติการ และแอปพลิเคชัน mobile banking ให้ล่าสุดอยู่เสมอ หรือไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมนอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุม และรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนา รวมทั้งไม่ใช้โทรศัพท์ที่ไม่ปลอดภัยทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งจะเป็นอีกหัวใจสำคัญในการป้องกันภัยได้อย่างยั่งยืน

แนวทางปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวง 

  1. ตั้งสติ และหยุดการติดต่อกับมิจฉาชีพทันที 
  2. ให้รีบติดต่อสถาบันการเงิน ที่ใช้บริการทันที ผ่านช่องทาง call center hotline ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสาขาภายในเวลาทำการ เพื่อระงับธุรกรรมหรือบัญชีชั่วคราวของผู้เสียหายและบัญชีปลายทาง
  3. แจ้งความอย่างรวดเร็วภายใน 72 ชั่วโมงผ่านเว็บไซต์ Thaipoliceonline.com ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสถานีตำรวจ เพื่อให้ตำรวจแจ้งสถาบันการเงิน ขยายระยะเวลาการระงับธุรกรรมหรือบัญชีต่ออีก 7 วัน เพื่อสืบสวน สอบสวนและออกหมายอายัดบัญชีต่อไป