กนง. มติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.50% ต่อปี

27 ก.ย. 2566 | 07:04 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2566 | 02:45 น.

กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี สู่ระดับ 2.50% ต่อปี เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้จะขยายตัวชะลอลงในปีนี้จากอุปสงค์ต่างประเทศ

(27 ก.ย. 66) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 27 กันยายน 2566 ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จากระดับ 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้จะขยายตัวชะลอลงในปีนี้จากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยอัตราการขยายตัวในปี 2567 จะเพิ่มสูงขึ้น จากทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ

ด้านอัตราเงินเฟ้อ มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประกอบกับแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์ เอลนีโญ

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ 1.6% และ 2.6% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำในปี 2566 จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐและผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปี 2567 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.4% และ 2.0% ในปี 2566 และ2567 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง โดยเฉพาะในปี 2567 จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐ และต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นหากปรากฏการณ์ เอลนีโญ รุนแรงกว่าคาด

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ทั้งนี้ ต้องติดตามแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในบริบทที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแล ให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว

รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้

ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 2.8% และ 4.4% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยมีแรงส่งสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชน

สำหรับปีนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงจากภาคการส่งออกสินค้า และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีน และวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้า

อย่างไรก็ตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเร่งสูงขึ้นในปี 2567 จากอุปสงค์ในประเทศ ภายใต้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง และภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว อีกทั้งจะได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ

ภาพประกอบ การแถลงข่าวผลประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

นายปิติ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การกำหนดนโยบายการเงินนั้น สิ่งที่สำคัญคือการมองไปในระยะข้างหน้า ซึ่งตัวเลข จีดีพี ที่ออกมาในไตรมาส 2 เป็นตัวเลขในอดีตที่ผ่านไปแล้ว โดยในปีหน้าไป ทำให้ทาง คณะกรรมการ กนง. มองว่าภาพเป็นอย่างไรจากการฟื้นตัวต่อเนื่อง 

ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งต้องคำนึงถึงเสถียรภาพ ทำให้ปรับขึ้น 0.25% เป็นเรื่องที่เหมาะสม และการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม

เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าวันนี้ ในภาพรวมยังสอดคล้องกับภูมิภาค ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่าขึ้นทำให้ค่าเงินอื่นๆ อ่อนค่าลง 

หากมองตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทอ่อนลง 3-4% ยังไม่ถือว่าอ่อนค่าจนมีอะไรที่เป็นประเด็น แต่ในมุมกลับกันยังช่วยให้ภาคการส่งออกมียอดรายได้ที่เพิ่มขึ้น จากการอ่อนค่าของค่าเงินบาท

ขณะที่นโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่อง ดิจิทัลวอเล็ต 1 หมื่นบาท ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเริ่มขึ้นเมื่อใด รวมไปถึงการหาแหล่งเงิน และรูปแบบ จะออกมาเป็นอย่างไร แต่ผลกระทบจะมีต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ยังไม่สามารถประเมินได้เนื่องจากยังไม่เห็นตัวเลขที่ชัดเจน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเสถียรภาพการคลังน่าเป็นห่วงหรือไม่นั้น นายปิติ ระบุว่า มาตรการภาครัฐยังไม่ชัดเจน ซึ่งหลายฝ่ายอาจมีความเป็นห่วงในภาคการคลังบ้าง ซึ่งภาคการคลังของประเทศไทย มีความแข็งแกร่งกว่าในหลายๆ ประเทศ 

เพราะมีหนี้ไม่มาก จึงยังมีเสถียรภาพในระยะยาว แต่ก็ต้องติดตามเงื่อนไขมาตรการภาครัฐอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีขนาดวงเงินเท่าไร่ รวมทั้งรูปแบบที่จะออกมา

เมื่อถามถึงธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่นั้น  นายปิติ กล่าวว่า ในส่วนของ ธนาคารพาณิชย์ หลายแห่ง มีการดูปัจจัยค่อนข้างเยอะในการจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากเศรษฐกิจเป็นไปตามแนวที่คาดไว้ ก็เชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นตามมาบ้าง