ธ.ก.ส.พร้อมพักหนี้"แรงงานไทย"จากอิสราเอล

15 ต.ค. 2566 | 05:48 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2566 | 06:04 น.

รมช.คลัง ยัน พร้อมพักหนี้ให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอล ชี้ส่วนใหญ่วงเงินกู้ไม่เกิน 3 แสนบาท ส่วนผู้เสียชีวิตได้รับยกเว้นหนี้ให้ตามหลักเกณฑ์

วันที่15 ต.ค.2566  จากสถานการณ์แรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในอิสราเอลและมีบางส่วนต้องการเดินทางกลับไทยเพื่อความปลอดภัย แต่ยังมีปัญหาหนี้สินที่กู้ยืมไปทำงาน

ล่าสุดนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า นโยบายเร่งด่วนที่นายกรัฐมนตรีสั่งการมาคือการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากอิสราเอลและมีปัญหาหนี้สินติดตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นหนี้ของธ.ก.ส.ด้วย

ธ.ก.ส.พร้อมพักหนี้\"แรงงานไทย\"จากอิสราเอล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

โดยได้มอบหมายให้ผู้จัดการธ.ก.ส.รับไปช่วยเหลือว่า สามารถเข้าร่วมโครงการพักหนี้ได้ตามโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เพราะส่วนใหญ่วงเงินกู้ไม่เกิน 3 แสนบาทอยู่แล้ว เพื่อบรรเทาภาระหนี้ในช่วงนี้อย่างน้อย 1 ปี ขณะที่ผู้เสียชีวิตจะได้รับการยกหนี้ให้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
 

ส่วนความคืบหน้าของลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการพักหนี้กว่า 2 ล้านราย ยอดหนี้ทั้งหมด 283,000 ล้านบาท ธ.ก.ส. เปิดให้บริการตรวจสอบสิทธิ์และแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน     แอปพลิเคชัน “BAAC Mobile” ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มกราคม 2567 

ทั้งนี้ปัจจุบัน มีผู้แจ้งความประสงค์แล้วกว่า 3.16 แสน  ราย (ณ 12 ตุลาคม 2566)  โดยในวันนี้ได้ลงพื้นที่ตรรวจสอบกระบวนการทำงานว่ามี จุดใดที่มีปัญหา เพื่อปรับปรุงให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งพบว่า ลูกหนี้กลุ่มหนี้เสีย ส่วนใหญ่ไม่มาติดต่อ จึงมอบหมายให้ ธ.ก.ส.เร่งติดตามลูกหนี้กลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด แต่หากครบเวลาแล้วมาไม่ครบอาจจะขยายเวลาออกไปได้

ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ลูกหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารมีทั้งสิ้น 1.2 แสนราย ที่มีหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท และมีสิทธิเข้าโครงการ มีจำนวน 6 แสนคน คิดเป็นมูลหนี้ 3.6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ภาคอีสาน ก็จะเร่งรัดให้สาขาทำความเข้าใจด้วยเร็วเพราะเป็นประโยชน์กับตัวลูกค้า

การดำเนินมาตรการในครั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอและสามารถชำระหนี้ได้ ธ.ก.ส. จึงดำเนินการเสริมความรู้ฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ใหม่” 

โดยมีตัวอย่างบริษัทที่เข้าร่วมกับ ธ.ก.ส. เช่น บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ที่ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืน บริษัท ซันสวีท จำกัด สนับสนุนการปลูกข้าวโพดหวาน บริษัท เจียไต๋ จำกัด ที่ดำเนินโครงการพัฒนา Smart Farmer ต่อยอดความสำเร็จเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจผักดอยโอเค  ที่รับซื้อผักอินทรีย์จากเกษตรกร เพื่อนำไปจำหน่ายยังผู้บริโภค ซึ่งมีเกษตรกรลูกค้าเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้วกว่า 500 ราย

 นอกจากนี้ ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการผลิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการผลิตอันนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน