KTC ภายใต้ ‘พิทยา วรปัญญา’ ลุยทำกำไรต่อเนื่องทุกปี

19 ต.ค. 2566 | 06:22 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2566 | 06:45 น.

“พิทยา วรปัญญาสกุล” ว่าที่ซีอีโอ KTC ปักหมุดแผนปี 67 พร้อมเดินหน้าทำกำไรเติบโตต่อเนื่องทุกปี แม้เศรษฐกิจยังผันผวน เตรียมความพร้อมทั้ง 3 ธุรกิจหลัก “บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล-เคทีซีพี่เบิ้ม”

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 นางพิทยา วรปัญญาสกุล จะขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) คนใหม่ของ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC แทน นายระเฑียร ศรีมงคล ที่จะครบกำหนดการขยายเวลาเกษียณอายุ หลังจากนั่งกุมบังเหียน KTC มานับ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 พร้อมกับเปลี่ยนโฉมทีมผู้บริหารระดับสูงทั้งหมด ถือเป็นก้าวใหม่และก้าวที่สำคัญของ KTC

นางพิทยา วรปัญญาสกุล ว่าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC กล่าวว่า ก้าวต่อไปของ KTC เรายังคงเป้าหมายทำกำไรให้เติบโตถึง 10,000 ล้านบาท และมุ่งทำกำไรเติบโตต่อเนื่องทุกปี รวมถึงปีนี้ด้วย ซึ่งปี 2567 มองว่า ยังมีความไม่แน่นอนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ KTC มีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมมาโดยตลอดและมองเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อทั้ง 3 ธุรกิจ คือธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน”

นางพิทยา วรปัญญาสกุล ว่าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC

“เราเชื่อว่า ยังมีผู้บริโภคที่ต้องการสินเชื่ออยู่อีกมาก โดย KTC จะเน้นขยายฐานสมาชิกไปยังผู้ที่มีความต้องการสินเชื่อเป็นหลัก และไม่ชักจูงให้สมาชิกมีภาระหนี้ที่เกินความจำเป็น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งปัจจุบันเรามีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)อยู่ที่ 2% ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าอุตสาหกรรม”

ส่วนการบริหารต้นทุนทางการเงินในปี 2567 จะยังคงรักษาระดับให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยมีแผนจะระดมเงินกู้ยืมระยะยาว 13,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ รวมถึงรองรับหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนด 11,850 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมระยะยาว (Original Term) อยู่ที่ 20:80 และต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ 3.1% สูงขึ้นจากสิ้นปี 2566 ที่คาดว่า จะอยู่ที่ 2.8%

นางพิทยากล่าวถึงกลยุทธ์การทำธุรกิจในปี 2567ว่า ด้านธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซี ตั้งเป้ามีสมาชิกบัตรใหม่เพิ่มขึ้น 230,000 ใบและมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต 15% จากปี 2566 ซึ่งปัจจุบันมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 13-14% และจะเป็นปีที่เราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยสำหรับสมาชิกในทุกขั้นตอนของการใช้บริการบัตรเครดิตเคทีซี ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน “KTC Mobile” ต่อเนื่อง

KTC ภายใต้ ‘พิทยา วรปัญญา’ ลุยทำกำไรต่อเนื่องทุกปี

นอกจากนี้ จะมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต “เคทีซี ดิจิทัล” (KTC DIGITAL CREDIT CARD) ให้ตอบโจทย์การใช้งานออนไลน์มากขึ้นและเรายังคงเน้นทำการตลาดในกลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือน 50,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ทำให้การใช้จ่ายโดยรวมของเราเติบโตได้ดี

ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ยังเป็นธุรกิจที่เราเน้นการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการบริหารพอร์ตสินเชื่อคุณภาพ โดยปี 2567 ตั้งเป้าเติบโต 5% จำนวนสมาชิกบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” เพิ่มขึ้น 100,000 ราย ด้วยแผนกลยุทธ์หลัก คือ

  • สรรหาสมาชิกใหม่ที่มีคุณภาพ เน้นการรับสมัครผ่านช่องทางสมัครสินเชื่อออนไลน์ E-Application เพื่อให้สมาชิกทำรายการได้ด้วยตนเอง และรู้ผลอนุมัติแบบเรียลไทม์ พร้อมรับเงินโอนเข้าบัญชีทันที
  • การสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้บัตรกดเงินสดให้กับสมาชิก“เคทีซี พราว” กว่า 700,000 ราย ไม่ว่าจะเป็นการ “รูด โอน กด ผ่อน” โดยจะเพิ่มฟังก์ชันการเบิกถอนและใช้วงเงินผ่านแอปฯ “KTC Mobile” ให้รองรับการโอนเงินไปยังบัญชีพร้อมเพย์ เพิ่มเติมจากการโอนเงินเข้าบัญชีได้หลากหลายธนาคารในปัจจุบัน

ส่วนธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ยังคงเน้นการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ายอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ปี 2567 ที่ 6,000 ล้านบาทด้วย 3 กลยุทธ์หลักคือ 1.เน้นสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2.ผนึกกำลังกับธนาคารกรุงไทยในการขยายฐานลูกค้าผ่านสาขาธนาคารกรุงไทยกว่า 900 แห่งเป็นหลักเสริมด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ของธนาคาร พร้อมชูจุดเด่นผลิตภัณฑ์สินเชื่อเดียวที่สามารถทำรายการอนุมัติได้แบบเรียลไทม์ และรับเงินทันที

  • ตอกย้ำจุดแข็งผลิตภัณฑ์ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงินในฐานะผู้บริการรายเดียวที่ให้วงเงินใหญ่สูงสุด 1 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อภายใน 1 ชั่วโมง และยังขยายฐานไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อทะเบียนรถบิ๊กไบค์ เคทีซี พี่เบิ้ม” พร้อมบัตรกดเงินสด เคทีซี พี่เบิ้ม อีกด้วย

ขณะเดียวกันในปี 2567 ยังมีแผนขยายจำนวนพันธมิตรในส่วนของ MAAI by KTC ทั้งธุรกิจขนาดกลางและใหญ่อีกไม่ต่ำกว่า 20 ราย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนสมาชิก MAAI ประมาณ 2 ล้านราย

นางพิทยายังกล่าวถึงการนำพาธุรกิจเคทีซีต่อจากนี้ว่า จะตั้งอยู่บน 3 องค์ประกอบคือ คน-กระบวนการ-เทคโนโลยี เริ่มจาก คน ซึ่งในปีหน้าจะมุ่งพัฒนาและส่งเสริมความเป็นผู้นำของผู้บริหารรุ่นใหม่ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาผู้บริหารระดับกลาง สร้างความเป็นผู้นำเพื่อจะร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

ส่วนกระบวนการจะให้ความสำคัญกับการออกแบบและปรับกระบวนการทำงานให้กระชับรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน โดยยึดสมาชิกเป็นศูนย์กลาง มีความเข้าใจความต้องการของสมาชิกและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อทำการตลาด พร้อมทั้งปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการของ KTC

 ด้านเทคโนโลยีนั้น ยังคงให้ความสำคัญกับการใช้งานคลาวด์ (Cloud Computing) ในโครงสร้างระบบทางด้านไอที รวมถึงการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูล ซึ่งจะมีการใช้งานมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลดีในเรื่องความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ และยังเล็งเห็นโอกาสในการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาเพิ่มศักยภาพขององค์กร เพื่อปรับปรุงคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อ

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,932 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2566