ไทยพาณิชย์เดินหน้ากลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch ประกาศเป้าหมายสร้างรายได้ช่องทางดิจิทัลให้ขยับสู่ 25% ภายในปี 2568 รุกเสริมความแข็งแกร่งทางด้านธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ให้เป็นที่หนึ่งในวงการ ปลื้มผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปีนี้สร้างกำไรสุทธิ 3.66 หมื่นล้านบาท เติบโต 21% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือน 2566 ธนาคารมีรายได้ 1.1 แสนล้านบาท เติบโตจาก 9.9 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2565 และมีกำไรสุทธิ 3.66 หมื่นล้านบาท เติบโต 21% โดยมีรายได้ดอกเบี้ยเติบโตอย่างโดดเด่นเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของภาคธนาคาร ซึ่งสอดรับกับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโตเช่นเดียวกัน โดยมาจากค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมทางการเงิน ในขณะที่ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่งในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 2 และธนาคารยังสามารถรักษาผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (Return on Equity:ROE) ได้ในระดับ 2 หลักและควบคุมค่าใช้จ่ายต่อรายได้(Cost to Income) 9 เดือนแรกไว้ได้ที่ 37.4% ดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้
“ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเปราะบาง โดยเฉพาะการส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตที่ 3.1% จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ถึง 3.9% จากประเด็นดังกล่าว ทำให้ธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อและดูแลคุณภาพสินเชื่อ”นายกฤษณ์กล่าว
ดังนั้น การเติบโตของสินเชื่อของปีนี้จึงเติบโตอย่างมีคุณภาพ ในช่วง 9 เดือนแรกสินเชื่อเติบโตที่ 5% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ขับเคลื่อนจากสินเชื่อในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ สินเชื่อความยั่งยืน และสินเชื่อบ้าน ส่งผลให้สินเชื่อคงค้างรวม (Outstanding Loan) อยู่ที่ 2.35 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานธนาคาร สะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ ผ่านกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch ในระยะแรกที่ได้เริ่มดำเนินมาตลอด 1 ปีนี้ ด้วยการสร้างเสถียรภาพและความสมดุลให้เกิดขึ้นภายในองค์กรและเพื่อให้ลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้น มั่นใจในจุดแข็งของธนาคารที่เป็นอยู่ ด้วยการปักหมุดแนวทางที่ธนาคารจะปรับตัวเพื่อเป็นดิจิทัลแบงก์ รวมถึงการประกาศเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำธุรกิจบริหารความมั่งคั่งอันดับหนึ่งในประเทศไทย
สำหรับการดำเนินงานต่อจากนี้ ธนาคารจะเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจให้ลูกค้าสัมผัสถึงประสบการณ์ใหม่ๆ ที่รู้สึกได้ ผ่านโฟกัสสำคัญใน 2 ส่วนหลัก
ปัจจุบันรายได้ดิจิทัลของธนาคารอยู่ในระดับ 7% เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ที่มีอยู่เพียง 3% โดยธนาคารมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทุกแพลตฟอร์มรวมกันกว่า 25 ล้านราย โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ทำธุรกรรมมียอดรวมแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 7 พันล้านรายการ หรือกว่า 89% ของธุรกรรมทั้งหมดของธนาคาร
“ระยะนี้ ธนาคารได้เริ่มปรับใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI) เพื่อเรียนรู้และทำความรู้จักลูกค้าในช่องทางบริการต่างๆ ด้วยการสร้าง Chat bot ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และในอนาคตยังมีแผนใช้ AI ให้คำแนะนำทางด้านการลงทุนให้กับลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายเพื่อเสริมประสิทธิภาพให้ธุรกิจ Wealth Management อีกด้วย”
นอกจากนี้ ธนาคารใช้เทคโนโลยีเอไอและแมชชีนเลิร์นนิ่งเพื่อเสริมศักยภาพแก่ทุกผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า โดยได้เริ่มไปแล้วในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดเล็ก (SSME) ภายใต้ชื่อ Up เงินทันใจ และมีวงเงินอนุมัติแล้ว 2,000 ล้านบาทภายใน 5 เดือนแรก และยังเตรียมผลักดันเทคโนโลยีดิจิทัลไปยังผลิตภัณฑ์เทรดไฟแนนซ์และซัพพลายเชน ผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และผลิตภัณฑ์การลงทุน เพื่อร่วมกันผลักดันรายได้ดิจิทัลให้เป็น 25% ให้ได้ในปี 2025
ขณะเดียวกัน ธนาคารให้การดูแลลูกค้าในกลุ่ม Wealth ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าอยู่กว่า 500,000 ราย รวมสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการ(AUM) กว่า 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งในเร็วๆ นี้จะมีการสร้างความแตกต่างทางธุรกิจให้เกิดขึ้นด้วยรูปแบบการให้บริการที่ครบวงจรและไร้รอยต่อ โดยตั้งเป้าหมายความเป็นที่หนึ่งในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ซึ่ง AUM ต้องเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 20% จากปัจจุบันที่เติบโตเฉลี่ย 10%